กลุ่มอายุ

              ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ หากใช้การวิเคราะห์อายุเป็นรายปีอาจมีความละเอียดมากเกินไป  จึงมักรวมอายุรายปีเป็นกลุ่ม เรียกว่า กลุ่มอายุ (age group)  ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ประชากรศาสตร์  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า  กลุ่มอายุ  หมายถึง อายุของประชากรที่จัดรวมกลุ่มเป็นช่วง ๆ เช่น กลุ่มอายุ ๐-๒ ปี ๓-๔ ปี โดยที่หน่วยช่วงอายุอาจเป็นวัน เดือน หรือปี ก็ได้   ตามปรกตินิยมเสนออายุประชากรด้วยหน่วยเวลาเป็นปี  กลุ่มอายุที่นิยมกันมากที่สุดในการเสนอภาพโครงสร้างประชากรหรือการนำอายุประชากรไปวิเคราะห์ร่วมกับตัวแปรอื่น ๆ ได้แก่ กลุ่มอายุ ๕ ปี เช่น ถ้าเรียงลำดับกลุ่มอายุ ๕ ปีตั้งแต่แรกเกิดขึ้นไปจะได้ดังนี้ ๐-๔, ๕-๙, … , ๗๕-๗๙, ๘๐-๘๔ เมื่อถึงกลุ่มอายุสูงสุดที่เกินกว่านั้น จะจัดเป็นกลุ่มอายุเปิดคือ ๘๕ ปี ขึ้นไป   ในการสร้างพีระมิดประชากร (population pyramid) นิยมแบ่งประชากรชายและหญิงออกเป็นกลุ่มอายุ ๕ ปี เช่นเดียวกับตารางชีพย่อ (abridged life table)  ที่แบ่งประชากรในตารางเป็นกลุ่มอายุ ๕ ปี เช่นกัน  ยกเว้นกลุ่มอายุน้อยสุดที่ต่ำกว่า ๕ ปี จะแบ่งย่อยเป็น ๒ กลุ่ม คือ อายุ ๐ ปี และกลุ่มอายุ ๑-๔ ปี   นอกจากนั้น ในการคิดอัตรารายอายุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเจริญพันธุ์รายอายุ อัตราตายรายอายุ ก็นิยมคิดเป็นอัตราของกลุ่มอายุ ๕ ปี เช่นเดียวกัน   ประชากรทั้งหมดตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุสูงสุดอาจจัดแบ่งเป็น ๓ กลุ่มอายุใหญ่ ๆ ได้แก่  (๑)  กลุ่มประชากรวัยเยาว์ หรือประชากรเด็ก (young-age population) คือ ประชากรตั้งแต่อายุ ๐ ปี จนถึง ๑๔ ปี หรือประชากรที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี ทั้งหมด  (๒) กลุ่มประชากรวัยทำงาน (working-age population) คือ ประชากรอายุ ๑๕-๖๔ ปี แต่ประเทศไทยนิยามว่า ประชากรวัยแรงงาน คือ ประชากรอายุ ๑๕-๕๙ ปี   (๓) กลุ่มประชากรสูงอายุ (old-age population) คือ ประชากรอายุ ๖๕ ปีขึ้นไป  แต่ประเทศไทยนิยามว่า ผู้สูงอายุ (elderly) คือ ผู้มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ หมายถึง ผู้มีอายุ ๖๕ ปีขึ้นไป.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก