คากิ

          คากิ มาจากภาษาจีนแต้จิ๋วว่า ตือคากิ แปลว่า ตีนและขาของหมู แต่มักเรียกสั้น ๆ ว่า คากิ  คนจีนนิยมนำขาหมูทั้งขารวมทั้งส่วนตีนของหมูไปประกอบอาหาร เช่น ต้มซุปหรือทอดกระเทียมพริกไทย  ส่วนคนไทยอาจนำไปทำต้มยำ แต่ที่นิยมที่สุดคือนำไปทำพะโล้. การทำพะโล้ขาหมู มักตัดขาหมูเป็นชิ้นใหญ่ ๆ ๒ ชิ้น ชิ้นบนตั้งแต่ต้นขาถึงเหนือข้อ ชิ้นล่างตั้งแต่ข้อจนถึงปลายตีน เพื่อไม่ให้เนื้อของขาหมูยุ่ยแยกจากกันแม้ว่าจะตุ๋นนาน ๆ ก็ตาม ขาหมูพะโล้ส่วนล่างจึงเห็นส่วนตีนติดอยู่กับส่วนขา คนจีนแต้จิ๋วจึงเรียกว่า คากิ แปลว่า ตีนและขา หรือ ตีนที่ติดอยู่กับขา แต่เมื่อใช้คำนี้ไปนาน ๆ คำว่า คากิ ก็มีความหมายแคบลง คือหมายถึงเฉพาะตีนหมูที่เป็นอาหารเท่านั้น  คากิเป็นอาหารที่มีเจลลาตินสูงเหมาะแก่ผู้มีปัญหาเรื่องผมและผิวพรรณ

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.