นอมินี

          ข่าวเศรฐกิจและการเมืองที่ได้ยินบ่อยครั้งคงทำให้คำ นอมินี ได้ผ่านหูพวกเรากันบ้าง ในช่วงรอยต่อของ พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๐ มีข่าวนอมินีทางการเงิน เช่น ” …มีนักลงทุนต่างชาติบางรายเห็นประเทศไทยเป็นเนื้อสมันจึงเข้ามาดำเนินธุรกิจในลักษณะไม่ถูกกฎเกณฑ์ เช่น การถือหุ้นผ่านนอมินีแล้วมาร้องเรียนเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์การลงทุนในประเทศไทยที่ขัดต่อกฎหมาย…/ เดลินิวส์ ฉ.๑๒ ม.ค. ๒๕๕๐” ในช่วงกลางพ.ศ. ๒๕๕๐ มีข่าวนอมินีทางการเมือง เช่น ” …โฆษกพรรคประชาธิปัตย์แสดงความกังวลถึงการที่นายสมัคร สุนทรเวชประกาศตัวเป็นนอมินีทางการเมืองของ พตท.ทักษิณ ชินวัตร…/ เดลินิวส์ ฉ.๒๖ ส.ค. ๒๕๕๐”

         นอมินีเป็นเครื่องมือของมหาเศรษฐีบางคนในการอำพรางชื่อผู้ถือหุ้นที่แท้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายต่าง ๆ ตลอดจนใช้เพื่อการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ด้วยการใช้อำนาจและข้อมูลภายใน (insider trading) ที่มีอยู่ฉกฉวยโอกาสของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรมทว่าแยบยล คือมีกลเม็ดหรือชั้นเชิงแนบเนียน

          นอมินี ( nominee ) เป็นศัพท์กลาง ๆ มีความหมายได้ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ดังตัวอย่างข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้ว นอมินียังหมายถึง ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ หรือรับรางวัล เช่น รางวัลโนเบล รางวัลออสการ์

          คณะกรรมการบัญญัติศัพท์เศรษฐศาสตร์ แห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้บัญญัติศัพท์คำ nominee ไว้อย่างเข้าทีและเหมาะกับเหตุผลแล้วว่า ผู้ได้รับแต่งตั้ง; ผู้ได้รับเสนอชื่อให้เลือก; ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ทำการแทน แต่ถ้าเป็นนอมินีทางการเงินหรือเกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ จะมาจากศัพท์ nominee shareholders ซึ่งราชบัณฑิตยสถานบัญญัติไว้ว่า ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ถือหุ้นแทน ซึ่งหมายถึงบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นแทนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากหลักทรัพย์นั้น เมื่อมีศัพท์บัญญัติที่เข้าทีเช่นนี้แล้วก็ควรนำมาใช้ให้แพร่หลาย ดังนั้น นอมินีจึงวรต้องะสางเป็นอย่างยิ่ง …..ก็รักเธอประเทศไทยเหมือนกัน.

รัตติกาล ศรีอำไพ