ภัยพิบัติ หรือ พิบัติภัย

          เมื่อไม่กี่วันมานี้มีผู้โทรศัพท์มาสอบถามผู้เขียนถึงความหมายของคำ “ภัยพิบัติ” ผู้เขียนจึงได้เปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ไม่พบคำ “ภัยพิบัติ” และเมื่อค้นหาคำ “พิบัติภัย” ก็ไม่พบเช่นกัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าคำทั้ง ๒ คำนี้ หมายความว่าอย่างไร และเมื่อใดจะใช้ “ภัยพิบัติ” เมื่อใดจะใช้ “พิบัติภัย” บทความนี้มีคำตอบ

          ในรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ของราชบัณฑิตยสถานซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๑ นั้น ได้อธิบายไว้ว่า คำว่า ภัยพิบัติ (อ่านว่า ไพ-พิ-บัด) ประกอบด้วยคำว่า ภัย หมายถึง สิ่งที่ทำให้กลัว หรืออันตราย กับ คำว่า พิบัติ หมายถึง ความฉิบหาย หรือหายนะ ภัยพิบัติ หมายถึง อันตรายที่นำไปสู่หายนะ หรือหายนะที่เป็นอันตราย มีทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติและเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุไซโคลน ภูเขาไฟระเบิด เป็นภัยธรรมชาติที่ทำให้เกิดภัยพิบัติ เครื่องบินตก เรือล่ม รถไฟตกราง สงคราม เป็นภัยพิบัติที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ คำว่า ภัยพิบัติ อาจใช้ว่า พิบัติภัย (อ่านว่า พิ-บัด-ไพ) ก็ได้ เช่น ทุกประเทศควรมีระบบป้องกัน บรรเทา และฟื้นฟูผลอันเนื่องมาจากพิบัติภัย

          เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติม ดังนี้ คำว่า ภัยพิบัติ เป็นการแปลจากคำหน้าไปหลัง คือ แปลจาก ภัย ไปหา พิบัติ ซึ่งแปลว่า ภัยที่ทำให้พิบัติ อันตรายที่นำไปสู่หายนะ ส่วน พิบัติภัย นั้น เป็นการแปลตามหลักภาษาบาลีสันสกฤต คือ แปลจากคำหลังไปหน้า คือ แปลจาก ภัย ไปหา พิบัติ ซึ่งแปลว่า พิบัติที่มีมาจากภัย ความหายนะที่มาจากอันตราย ดังนั้น ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า ภัยพิบัติ หรือ พิบัติภัย นั้น มีความหมายทำนองเดียวกัน ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าต้องการใช้คำไหนเท่านั้นเอง

สำรวย นักการเรียน