ยันต์

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  นิยามคำ ยันต์  ว่า ตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข อักขระหรือรูปภาพที่เขียน สัก หรือแกะสลักลงบนแผ่นผ้า ผิวหนัง ไม้ โลหะ เป็นต้น ถือว่าเป็นของขลัง เช่น ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ เรียกเสื้อหรือผ้าเป็นต้นที่มีลวดลายเช่นนั้นว่า เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ เรียกกิริยาที่ทำเช่นนั้นว่า ลงเลข ลงยันต์

          สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๔ อธิบายว่า ลักษณะของยันต์ แบ่งได้เป็น ๔ ลักษณะด้วยกันคือ  ๑) ยันต์รูปสี่เหลี่ยม หมายถึงธาตุทั้ง ๔ ทวีปทั้ง ๔   ๒) ยันต์รูปสามเหลี่ยม หมายถึง พระรัตนตรัย พระเจ้า ๓ พระองค์ หรือตรีมูรติ   ๓) ยันต์รูปวงกลม หมายถึงพรหมพักตร์   ๔) ยันต์รูปภาพ มีได้หลากหลาย ถ้าเป็นรูปองค์พระพุทธเจ้า พระปิดตา เทวดา ท้าวเวสสุวัณ ราหูอมจันทร์ หนุมาน ราชสีห์ นกคุ้ม จะมีความหมายในทางป้องกันตัว คงกระพัน แคล้วคลาด และอำนาจ ถ้าเป็นรูปมนุษย์ นางกวัก หงส์ พญานาค ปลาตะเพียน จะมีความหมายในทางเมตตามหานิยม และทางโภคทรัพย์

          วัสดุที่ใช้ลงยันต์เป็นได้ทั้งกระดาษ ผ้า แผ่นโลหะ แผ่นไม้ แผ่นศิลา หนังสัตว์ จนถึงบนหนังมนุษย์ที่เรียกว่า การสักยันต์ อย่างที่เราเห็นคนที่มีรอยสักตามตัว ศีรษะ คอ แขน ขา นั่นเองค่ะ

          คำพ้องเสียงกับคำว่า ยันต์ ที่ปรากฏในพจนานุกรมฯ มีคำว่า ยัน เป็นคำกริยา พจนานุกรมฯ นิยามว่า ต้านไว้ ทานไว้ ดันไว้ เช่น ยันประตูไว้ไม่ให้ล้ม ค้ำไว้ เช่น ถือไม้เท้ายันกาย ดันตัวขึ้น เช่น เอามือยันตัวลุกขึ้นจากพื้น; จด เช่น เอาหลังยันกัน นอนหัวยันฝา โตจนตัวยันเปล; ประจัน เช่น ตั้งกองทัพยันกัน; ยืนยัน เช่น เขายันว่าเขาไม่ได้ทำผิด; ภาษาปากหมายถึง ถีบ เช่น เดี๋ยวยันเปรี้ยงเข้าให้  ที่เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า เสมอ ตลอด เช่น โกหกยันเลย นอนยันเลย ที่เป็นคำสันธาน แปลว่า จนถึง กระทั่งถึง เช่น เที่ยวยันสว่าง  ยันตร์ มีความหมายเหมือนกับยนตร์ ยันตรกรรม แปลว่า วิชาเครื่องกล ยัญ เป็นคำนาม แปลว่า การเซ่น การบูชา การเซ่นสรวงโดยมีการฆ่าสัตว์หรือคนเป็นเครื่องบูชาเรียกว่า บูชายัญ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ