วิญญาณ

          นิยามของคำ วิญญาณ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายถึง สิ่งที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในกายเมื่อมีชีวิต เมื่อตายจะออกจากกายล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่; โดยปริยายหมายถึงจิตใจ เช่น มีวิญญาณนักสู้ มีวิญญาณศิลปิน นั่นคือความหมายที่เราเข้าใจและใช้กันในภาษาไทยทั่วไป

          ส่วนนิยามตามพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายตามรูปศัพท์ ว่า การรู้แจ้งหรือรู้ชัด ในคำสอนของพระพุทธศาสนา หมายถึง การรับรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัสสิ่งที่เป็นวิสัยของตนซึ่งเรียกว่า อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งกระทบกาย) และธรรมารมณ์ (สิ่งที่รับรู้ทางใจโดยตรง) ตรงกับนิยามอีกนัยหนึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่กล่าวว่า วิญญาณ คือความรับรู้ เช่น โสตวิญญาณ เป็น ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

          คำว่า อายตนะภายใน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทวาร หมายถึง ประตูให้อายตนะภายนอกหรืออารมณ์ผ่านเข้ามา ซึ่งความรับรู้หรือวิญญาณมี ๖ อย่าง คือ ๑. จักขุวิญญาณ การรับรู้อารมณ์ทางตา คือการเห็นรูป  ๒. โสตวิญญาณ การรับรู้อารมณ์ทางหู คือการได้ยินเสียง  ๓. ฆานวิญญาณ การรับรู้อารมณ์ทางจมูก คือการได้กลิ่น  ๔. ชิวหาวิญญาณ การรับรู้อารมณ์ทางลิ้น คือการรับรู้รส  ๕. กายวิญญาณ การรับรู้อารมณ์ทางกาย คือการรู้สึกสัมผัสทางกาย  ๖. มโนวิญญาณ การรับรู้อารมณ์ทางใจ คือการรับรู้หรือการคิดถึงสิ่งที่เป็นอารมณ์ทางจิต โดยไม่ต้องผ่านอายตนะภายในอื่น ๆ ในขณะรับรู้

          จะเห็นว่า “อารมณ์” ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา หมายถึง สิ่งที่จิตรับรู้ซึ่งได้แก่อายตนะภายนอก ๖ อย่าง แตกต่างกับ “ความรู้สึกทางใจ” ส่วน “วิญญาณ” ในภาษาไทยทั่วไปที่หมายถึงตัวตนหรืออัตตา (soul) ที่เที่ยง ไม่แตกดับ แม้คนหรือสัตว์ตายไป วิญญาณจะไม่ตายไปด้วย แต่จะออกจากร่างเก่าไปเกิดใหม่ ตามคำสอนของพระพุทธศาสนา วิญญาณลักษณะเที่ยงเช่นนี้ไม่มีอยู่จริงค่ะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ