องศาเซลเซียส

          คุณชัยพรส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล e-mail) ถามถึงปัญหาการใช้สัญลักษณ์ ”  ํซ.” ในตอน “ทอง” ที่ผู้เขียนเขียนลงหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมน์องค์ความรู้ภาษาไทย ฉบับวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ว่า “ทำไมไม่ใช้สัญลักษณ์เป็นภาษาอังกฤษ หรือไม่ก็เขียนเต็มว่าองศาเซลเซียส เนื่องจากตามที่เคยเรียนมานั้น ไม่เคยเห็นการใช้สัญลักษณ์นี้”

          การใช้คำเต็มไม่ผิดอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการใช้สัญลักษณ์นั้น ผู้เขียนขอยืนยันตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดไว้ในนิยามของ เซลเซียส ว่า เป็นชื่อองศาที่ใช้วัดอุณหภูมิ แบ่งออกเป็น ๑๐๐ องศา เรียกว่า องศาเซลเซียส (degrees Celsius) เดิมเรียกว่า องศาเซนติเกรด (degrees centigrade) กําหนดเป็นมาตรฐานว่า จุดเยือกแข็งของนํ้าบริสุทธิ์เป็น ๐ องศา (เขียนย่อว่า ๐ ํซ.) และจุดเดือดของนํ้าบริสุทธิ์เป็น ๑๐๐ องศา (เขียนย่อว่า ๑๐๐ ํซ.)  อักษรย่อว่า  ซ.   ซึ่ง ซ.  ก็ทับศัพท์มาจาก C นั่นเอง

        ทั้งนี้ คำว่า องศา  พจนานุกรม ฯ นิยามว่า หน่วยในการวัดขนาดของมุม โดยกําหนดให้มุมที่รองรับโค้ง ๑ ใน ๓๖๐ ส่วนของเส้นรอบวง มีขนาด ๑ องศา และ ๙๐ องศา เป็น ๑ มุมฉาก; หน่วยในการวัดอุณหภูมิตามชนิดของเครื่องวัด; ตามโหราศาสตร์ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของจักรราศี คือ วงกลมในท้องฟ้า แบ่งจักรราศีออกเป็น ๑๒ ราศี และแบ่ง ๑ ราศีออกเป็น ๓๐ องศา ฉะนั้น วงกลมจึงเท่ากับ ๓๖๐ องศา

          องศาฟาเรนไฮต์ (degrees fahrenheit) หมายถึง สเกลอุณหภูมิระบบอังกฤษ  สัญลักษณ์ deg F หรือ °F  โดย 1°F มีขนาด ๕๙  ขององศาเซลเซียส ประเทศที่ยังคงใช้สเกลอุณหภูมิฟาเรนไฮต์มีอยู่น้อยมาก เช่น สหรัฐอเมริกา คำว่า degree ในภาษาอังกฤษใช้สัญลักษณ์  ” ° ” แทน ในหลายความหมาย ทั้งบอกอุณหภูมิ บอกมุม บอกระดับขั้นอื่น ๆ เช่น ปริมาณแอลกอฮอล์ในสุรา  แต่ปริมาณแอลกอฮอล์นั้น คนไทยไม่นิยมเรียกเป็นองศาค่ะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ