แม่รับแม่ย่านาง

          คนไทยมักเชื่อกันว่า เด็กทุกคนเมื่อเกิดมาจะมีแม่ซื้อหรือเทวดาที่คอยคุ้มครองเด็กแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ ๑๒ ขวบ ทราบไหมว่านอกจากคนแล้ว สัตว์ขนาดใหญ่อย่างช้าง ก็ยังมีแม่รับคอยเอาใจใส่ดูแลลูกช้างที่เพิ่งเกิดใหม่ แม่รับเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร รู้ รัก ภาษาไทย เล่ม ๒ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้สรุปได้ว่า

          แม่รับ คือ ช้างพังที่คอยช่วยเหลือแม่ช้างในเวลาตกลูก ในธรรมชาติที่ช้างอยู่รวมกันเป็นฝูง หรือผู้เลี้ยงช้างมีช้างหลายเชือก แม่ช้างที่ท้องแก่ใกล้ออกลูกจะหาเพื่อนช้างพังที่สนิทไว้คอยช่วยเหลือเวลาตกลูก ลูกช้างที่ออกมาจะมีถุงเป็นเยื่อบาง ๆ หุ้มอยู่ แม่รับจะเข้าไปช่วยฉีกถุงหุ้มออกจากตัวลูกช้าง และคอยดูแลลูกช้างจนลูกช้างลุกขึ้นเดินได้ แม่รับจะประคับประคองลูกช้างให้เดินไปหาแม่ช้างเพื่อให้ลูกช้างได้กินนม แม่ช้างบางตัวยังไม่มีสัญชาตญาณรักลูกเพราะยังเจ็บปวดกับการออกลูก ก็อาจทำร้ายลูกช้างจนตายได้ แม่รับจะคอยกันลูกช้างไม่ให้เข้าใกล้แม่จนเห็นว่าปลอดภัย จึงให้ลูกช้างเข้าไปกินนมแม่ได้

          แม่รับบางตัวเอาใจใส่ดูแลลูกช้างมากกว่าแม่ช้าง โดยคอยช่วยดูแลและพาไปหัดกินหญ้าอ่อน คอยป้องกันอันตราย อื่น ๆ เช่น ไม่ให้ถูกงูกัดหรือถูกไม้กลิ้งทับ

          นอกจากนี้ ในพาหนะเช่นเรือ ก็เชื่อกันว่ามีเทวดาผู้หญิงที่อยู่ประจำเรือ หรือที่เรียกว่า แม่ย่านาง สถิตอยู่ เรื่องนี้อาจมาจากในสมัยก่อนใช้ไม้ซุงขนาดใหญ่มากมาขุดเป็นเรือ โดยเฉพาะไม้ตะเคียนที่มีเนื้อเหนียวและผุยาก ซึ่งคนไทยเชื่อว่ามีนางไม้หรือรุกขเทวดาผู้หญิงสถิตอยู่ เมื่อนำมาขุดเป็นเรือก็ต้องเชิญเทวดานั้นมาคุ้มครองเรือและเจ้าของเรือ โดยสถิตอยู่ที่หัวเรือห้ามไม่ให้ผู้ใดเหยียบ และมีเครื่องบูชาเป็นพวงมาลัยหรือผ้าแดงผูกหัวเรือและมีพิธีเซ่นไหว้.

กนกวรรณ ทองตะโก