การกระจายอำนาจในการบริหารการศึกษา

           การให้การศึกษาแก่ปวงชนไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบทควรมีความแตกต่างกันทั้งรูปแบบและสาระ แต่ทั้งนี้ควรให้สอดคล้องกับสภาพของชีวิตที่เป็นจริง

            ผู้ได้รับการศึกษามีความแตกต่างกันทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และความสามารถในการเรียนรู้ การให้การศึกษาที่เหมือนกันและเท่ากันแก่ผู้เรียนที่ไม่เท่าเทียมกัน ย่อมเป็นการยากที่จะทำให้เกิดผลผลิตที่เท่ากันได้ ดังนั้น เมื่อผู้ได้รับการศึกษามีความไม่เท่าเทียมกัน การศึกษาที่จัดให้ก็ควรจะจัดในสิ่งที่ไม่เท่ากันเพื่อที่จะให้เกิดผลผลิตที่เท่ากัน

            การตอบสนองต่อแนวคิดข้างต้น ไม่อาจกระทำได้โดยการบริหารงานแบบรวมอำนาจ (centralization) แต่อาจมีความเป็นไปได้โดยการบริหารงานแบบกระจายอำนาจ (decentralization)

            การบริหารงานแบบรวมอำนาจและการบริหารงานแบบกระจายอำนาจเป็นหลักที่สำคัญในการบริหารงาน ในประเทศกำลังพัฒนานั้น สภาพทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดโครงสร้างทางสังคม การเมือง และการบริหาร ประเทศต่าง ๆ มักจะนึกถึงความมั่นคงของประเทศเป็นประการสำคัญ รัฐบาลมักจะจัดโครงสร้างทางการบริหารบนพื้นฐานของการรวมอำนาจในการบริหารของภารกิจต่าง ๆ ที่จะต้องปฏิบัติและมุ่งเน้นการรวมอำนาจหน้าที่ (authority) ไว้ที่ศูนย์กลางหรือส่วนกลาง

            เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจการบริหาร คนส่วนมากมักจะนึกถึงการกระจายอำนาจทางการเมืองการปกครอง เพราะเราแบ่งระบบบริหารราชการแผ่นดินออกเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น นอกจากนั้น มักจะแบ่งการกระจายอำนาจเป็น ๒ มิติ คือ การกระจายอำนาจทางการเมือง (political decentralization) และการกระจายอำนาจทางการบริหาร (administrative decentralization)

            การกระจายอำนาจทางการบริหารการศึกษาเป็นการถ่ายโอน (transfer) อำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และการตัดสินใจจากส่วนกลางหรือศูนย์รวมอำนาจไปสู่ส่วนต่าง ๆ ขององค์การหรือตามระดับขั้นขององค์การ โดยให้ทุกส่วนขององค์การได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งนี้การให้บุคคล คณะบุคคล หรือ ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารนั้นเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตย การกระจายอำนาจทางการบริหารการศึกษาจะทำให้บางส่วนขององค์การมีความเป็นอิสระ (autonomy) จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการกระจายอำนาจบริหารการศึกษา คือการปรับปรุงหรือพัฒนาสถานศึกษา การกระจายอำนาจทางการบริหารในประเทศกำลังพัฒนามักจะเกิดขึ้นเพราะแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่าแรงจูงใจที่แท้จริงทางการศึกษา

            การกระจายอำนาจในการบริหารการศึกษาจำเป็นจะต้องพิจารณาใน ๓ มิติ ต่อไปนี้
            ๑. การกระจายอำนาจในองค์การ (organizational decentralization)
            ๒. การกระจายอำนาจทางการเมือง (political decentralization)
            ๓. การกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ (economic decentralization)

            รูปแบบ (form) ของการกระจายอำนาจทางการบริหารการศึกษาควรประกอบด้วย
            ๑. การแบ่งอำนาจ (deconcentration)
            ๒. การมอบอำนาจ (delegation)
            ๓. การโอนอำนาจ (devolution)
            ๔. การให้เอกชนดำเนินการ (privatization)

            ความแตกต่างของแต่ละรูปแบบขึ้นอยู่กับการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจจากศูนย์รวมอำนาจไปให้ใคร และใครคือผู้รับผิดชอบในผลของการตัดสินใจนั้น ๆ

            การกระจายอำนาจการบริหารการศึกษาอยู่บนแกนต่อเนื่องระหว่าง ๒ ขั้ว ขั้นหนึ่งคือการบริหารแบบรวมอำนาจชนิดสุดโต่ง  อีกขั้วหนึ่งคือ การบริหารแบบกระจายอำนาจชนิดสุดโต่ง  ระดับของการกระจายอำนาจจึงขึ้นอยู่กับว่า
            ๑. เป็นการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจในเรื่องอะไร
            ๒. ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจไปให้ใคร
            ๓. ใครคือผู้รับผิดชอบในผลของการตัดสินใจนั้น ๆ

            การกระจายอำนาจการบริหารการศึกษาควรจะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ มิควรจะดำเนินการโดยการปฏิรูป.

ผู้เขียน : นายเสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ ราชบัณฑิต ประเภทสังคมศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
ที่มา :    จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๗๐ มีนาคม ๒๕๔๐