คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College)

          ในขณะนี้ข่าวการเมืองซึ่งเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก เห็นจะได้แก่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้  การแข่งขันชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเพื่อหาผู้ที่ลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี  และการหยั่งเสียงลงคะแนนทั่วประเทศเพื่อหาผู้ที่จะเป็นตัวแทนของแต่ละพรรคในวันอังคารที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ หรือที่เรียกกันว่า Super Tuesday นั้นได้ทำให้ทราบว่าผู้ใดจะได้เป็นตัวแทนพรรคลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

          การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้น แม้ว่าประชาชนจะไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกผู้สมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้วก็ตาม แต่การที่ผู้สมัครคนใดจะได้เป็นประธานาธิบดีไม่ได้อยู่ที่เสียงของประชาชนซึ่งลงคะแนนเลือก แต่ขึ้นอยู่กับกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกว่า คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ซึ่งจะเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี คะแนนนี้เรียกว่า คะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง (electoral vote)

          คณะผู้เลือกตั้ง คือ กลุ่มบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองภายในรัฐเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้เลือกไปทำหน้าที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา  โดยจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศกำหนดไว้ตายตัวที่ ๕๓๘ คน โดยถือเอาฐานของจำนวนประชากรแต่ละรัฐเป็นเกณฑ์และจะมีการคำนวณแบ่งสรรกันทุก ๆ ๑๐ ปีจากการสำรวจสำมะโนประชากร และแต่ละรัฐมีคณะผู้เลือกตั้งได้อย่างน้อยที่สุด ๓ คน  ปัจจุบันรัฐที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมากที่สุด คือ แคลิฟอร์เนีย มี ๕๕ คน รองลงมาคือ เทกซัส มี ๓๔ คน และนิวยอร์ก มี ๓๑ คน  บางรัฐมีการออกกฎหมายให้คณะผู้เลือกตั้งออกเสียงเป็นกลุ่ม บางรัฐไม่มีกฎหมายบังคับแต่มีประเพณีปฏิบัติให้คณะผู้เลือกตั้งทุกคนลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้สมัครที่ชนะคะแนนเสียงประชาชนในรัฐนั้น ๆ โดยผู้สมัครที่แพ้คะแนนเสียงประชาชนจะไม่ได้คะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งในรัฐนั้นเลย  กฎหมายกำหนดให้คณะผู้เลือกตั้งไปออกเสียงลงคะแนนในวันจันทร์ที่ต่อจากวันพุธสัปดาห์ที่ ๒ ของเดือนธันวาคม และแต่ละรัฐจะส่งผลไปที่รัฐสภาสหรัฐอเมริกาเพื่อเปิดนับคะแนนในวันที่ ๖ มกราคมปีต่อมา.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน