งูพันคบเพลิง

          สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของแพทย์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ปฏิรูประบบบริการสุขภาพของคนไทย   ในอดีตนั้น การเจ็บป่วยเป็นเหตุให้เสียทรัพย์มาก ผู้ที่ทำงานมีสังกัด เช่น ข้าราชการ  จะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ส่วนผู้ที่ไร้สังกัดนั้นจะต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่ายค่ารักษาเอง ข่าวการจากไปของแพทย์ผู้กระทำคุณประโยชน์ให้คนไร้สังกัด จึงกระทบความรู้สึกผู้คนมากมาย เนื่องจากการเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกวัย ทุกฐานะ ดังนั้น เมื่อผ่านไปทางกระทรวงสาธารณสุขและเห็นเครื่องหมายของกระทรวงฯ ที่ประตูทางเข้า จึงอดใจนึกถึงความดีของแพทย์ทั้งหลายไม่ได้

          สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๗ กล่าวถึงเครื่องหมายของกระทรวงสาธารณสุขว่าเป็นเครื่องหมายรูปคบเพลิงมีปีกและมีงูพันคบเพลิง วงการแพทย์ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันใช้เครื่องหมายแสดงถึงอาชีพนี้  ๒ แบบ คือ (๑) คทากับงูของเอสกูลาปิอุส (Esculapius) เทพเจ้าแห่งแพทย์สมัยกรีก (๒) ไม้ศักดิ์สิทธิ์ (Caduccus) ของเทพเจ้าอะพอลโล (Apollo)  ตำนานของคทามีว่า สมัยประมาณ  ๑๒๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ขณะที่หมอเอสกูลาปิอุสกำลังบำบัดโรคให้แก่ผู้ป่วยนั้น มีงูตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามาพันคทาของหมอ  ในสมัยโบราณเชื่อกันว่างูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บันดาลให้เกิดความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง ทำให้โรคต่าง ๆ หายได้   ส่วนไม้ศักดิ์สิทธิ์มีตำนานว่า เมื่อประมาณ ๔๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ขณะที่เทพเจ้าอะพอลโลกำลังท่องเที่ยว ได้พบงู ๒ ตัวกำลังกัดกันอยู่ ท่านไม่ต้องการให้สัตว์ศักดิ์สิทธิ์นี้ต่อสู้และประหัตประหารกัน จึงได้ใช้ไม้เท้าที่ถือแยกงู ๒ ตัวออกจากกัน ไม้เท้าจึงได้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งความสงบตั้งแต่นั้นมา  ภายหลังได้มีผู้เติมปีก ๒ ปีกติดกับหัวไม้เท้า ซึ่งแสดงถึงความว่องไวและปราดเปรียว 

          คทายังเป็นสมบัติของวีรบุรุษเพื่อแสดงเกียรติ แพทย์ผู้ที่กล้าต่อสู้กับอุปสรรคนานาซึ่งมีอยู่ในระบบนั้น สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษ.
       

ปาริชาติ กิตินันทน์