จำนง กับ อารมณ์

          คำบางคำในภาษาไทยนั้นสะกดอย่างไรกันแน่ พจนานุกรมเป็นเครื่องมือหาคำตอบที่ถูกต้อง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

          จำนง ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ระบุว่า จำนง เป็นคำกริยา หมายถึง “ประสงค์ มุ่งหวัง ตั้งใจ (แผลงมาจาก จง)” มีอยู่บ่อยครั้งที่หลายคนสะกดผิดเป็น จำนงค์

          เจตจำนง เป็นคำนาม หมายถึง “ความตั้งใจมุ่งหมาย ความจงใจ” ในทางปรัชญา เจตจำนง เป็นคำที่บัญญัติแทนคำภาษาอังกฤษว่า will มีความหมายว่า “๑. ความจงใจ ๒. แรงปรารถนาซึ่งเป็นพลังอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้มนุษย์กระทำการต่าง ๆ” บางครั้งสะกดผิดเป็น “เจตจำนงค์” หรือ “เจตน์จำนง” ก็มี

          มีเกร็ดเกี่ยวกับคำว่า “จำนงค์” ซึ่งเป็นวิสามานยนามของราชบัณฑิตท่านหนึ่ง คือ ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ท่านเล่าให้ฟังว่า ชื่อท่านนั้นแยกเป็น จำนะ + องค์ โดยที่คำว่า “จำนะ” นั้นแผลงมาจาก “ชำนะ” และ “ชำนะ” ก็แผลงมาจาก “ชนะ” รวมกับคำว่า “องค์” ซึ่งแปลว่า “ส่วนของร่างกาย” รวมกันแล้วแปลว่า “ผู้ชนะ”

          อีกคำหนึ่ง คือ อารมณ์ เป็นคำนาม หมายถึง สิ่งที่ยึดหน่วงจิตโดยผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เช่น รูปเป็นอารมณ์ของตา เสียงเป็นอารมณ์ของหู เครื่องยึดถือเป็นจริงเป็นจัง เช่น เรื่องนี้อย่าเอามาเป็นอารมณ์เลย; ความรู้สึกทางใจที่เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งเร้า เช่น อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์ดี อารมณ์ร้าย; อัธยาศัย ปรกตินิสัย เช่น อารมณ์ขัน อารมณ์เยือกเย็น อารมณ์ร้อน; ความรู้สึก เช่น อารมณ์ค้าง ใส่อารมณ์ ความรู้สึกซึ่งมักใช้ไปในทางกามารมณ์ เช่น อารมณ์เปลี่ยว เกิดอารมณ์ เป็นวิเศษ หมายถึง มีอัธยาศัย มีปรกตินิสัย เช่น เขาเป็นคนอารมณ์เยือกเย็น เขาเป็นคนอารมณ์ร้อน

          อารมณ์ ในความหมายดังกล่าวมา บางครั้งสะกดผิดเป็น อารมย์ ก็มี เช่น สะกดว่า เจตนารมย์ เพราะอาจคุ้นชินกับคำว่า รื่นรมย์ ซึ่งคำ รื่นรมย์ นี้ พจนานุกรมฯ ระบุว่า เป็นวิเศษณ์ หมายถึง สบายใจ บันเทิง เช่น สวนสาธารณะปลูกต้นไม้ไว้สวยงามน่ารื่นรมย์ ส่วนคำ “อารมย์” พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ “อารมย์” เป็นคำมาจากบาลีสันสกฤต มาจาก อา (อุปสรรค) + รมย์ รวมแล้วมีความหมายเท่ากับคำว่า “รื่นรมย์” นั่นเอง

สำรวย นักการเรียน