จูแรสซิกแดนอีสาน

           ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้มีการค้นพบร่องรอยของสัตว์ดึกดำบรรพ์จำพวกไดโนเสาร์ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือดินแดนอีสานกันมากขึ้น สัตว์ดึกดำบรรพ์ดังกล่าวเคยมีชีวิตอยู่ในโลกเมื่อประมาณ ๑๙๐ ล้านปีมาแล้ว การค้นพบซากไดโนเสาร์มีเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ คือ เมื่อประมาณหนึ่งร้อยกว่าปีมาแล้ว จากนั้นได้มีผู้ค้นหาและค้นพบกันในที่ต่าง ๆ ของโลกหลายแห่ง แต่ส่วนมากอยู่ในซีกโลกเหนือตามพื้นที่ของละติจูดกลาง พื้นที่ละติจูดต่ำ คือบริเวณใกล้ศูนย์สูตรไม่ค่อยปรากฏรายงานว่าพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการค้นพบซากไดโนเสาร์เป็นจำนวนมากในทะเลทรายโกบี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอยู่ในบริเวณละติจูดกลางเช่นกัน สำหรับการค้นพบซากไดโนเสาร์ในอีสานเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมจึงพบร่องรอยของสัตว์ดังกล่าวในอีสานซึ่งอยู่ในพื้นที่ละติจูดต่ำ คำถามนี้น่าจะตอบได้ในเหตุผลกว้าง ๆ ดังนี้

            ไดโนเสาร์ได้เจริญอย่างเต็มที่เมื่อประมาณ ๑๕๐ ล้านปีมาแล้ว ช่วงนั้นอยู่ในยุคทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า จูแรสซิก ประเทศไทยมีหินที่อยู่ในยุคจูแรสซิกอยู่หลายแห่ง โดยทั่วไปเป็นหินจูแรสซิกที่เกิดในทะเล แต่หินจูแรสซิกที่พบในอีสานนั้นเป็นหินที่เกิดบนพื้นทวีปซึ่งแตกต่างจากส่วนอื่นของประเทศ จากการศึกษาและรายงานทางธรณีวิทยาได้ชี้ให้ทราบว่า ดินแดนอีสานเป็นผืน “อนุทวีปอินโดจีน” ซึ่งแยกออกมาจากผืนทวีปใหญ่ในอดีตที่เรียกว่า ลอเรเซีย (Laurasia) ส่วนอื่นของประเทศเป็นผืน “อนุทวีปฉานไทย” ซึ่งแยกจากผืนทวีปใหญ่ในอดีตที่เรียกว่า กอนด์วานา (Gondwana) ผืนอนุทวีปฉานไทยได้เลื่อนมาจากซีกโลกใต้ผ่านพื้นมหาสมุทรมาจึงมีตะกอนในทะเลทับถมกันมาก ภายหลังมาชนกับผืนอนุทวีปอินโดจีนซึ่งอยู่บนผืนทวีปซึ่งมีตะกอนบนพื้นทวีปดังที่ปรากฏอยู่ในอีสาน

            หลักฐานทางธรณีวิทยาพบว่า หินจูแรสซิกในอีสานส่วนใหญ่จะอยู่ในหินชุดโคราช หมวดเสาขัว และบางส่วนของหมวดหินภูพาน รายงานการค้นพบร่องรอยไดโนเสาร์แรก ๆ ได้แก่รอยเท้าของคาร์โนซอร์บนภูเวียง ซึ่งอยู่บนหมวดหินภูพาน ส่วนการขุดพบกระดูกไดโนเสาร์หลาย ๆ ชนิดบนภูเวียง จ. ขอนแก่น ภูผางัว อ. กุฉินารายณ์ จ. กาฬสินธุ์ และที่กำลังขุดค้นอยู่ขณะนี้ที่ภูกุ่มข้าว อ. สหัสขันธ์ จ. กาฬสินธุ์ ซึ่งพบโครงกระดูกดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์หลายชนิดที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เมื่อวิเคราะห์ดูตามโครงสร้างทางธรณีวิทยาแล้ว โอกาสที่จะพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในภาคอีสานยังมีอีกมาก โดยเฉพาะในภาคอีสานตอนกลางและตอนบนซึ่งมีหินยุคจูแรสซิกบนพื้นทวีปปรากฏอยู่ เนื่องจากไดโนเสาร์เป็นสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในบริเวณที่ใกล้แหล่งน้ำจืด เพราะไดโนเสาร์กลุ่มหนึ่งกินพืชเป็นอาหาร อีกกลุ่มหนึ่งคอยจับกลุ่มที่กินพืชเอามาเป็นอาหาร ดินแดนอีสานมีโครงสร้างซึ่งแสดงว่าในอดีตเป็นแอ่งน้ำจืดขนาดใหญ่ จึงเป็นไปได้มากที่อีสานจะเป็นแหล่งไดโนเสาร์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

            ไดโนเสาร์ได้สูญหายไปจากโลก ได้มีข้อสันนิษฐานกันหลายทาง แต่ที่เชื่อกันมากว่าเป็นเพราะอุกกาบาตได้เข้ามาชนโลกจนทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งไปในบรรยากาศทำให้พืชที่เป็นอาหารของไดโนเสาร์ล้มตายไปมากจึงเป็นผลให้ไดโนเสาร์ขาดอาหาร แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็มีข้อโต้แย้งกันมาก และหลังสุดเมื่อดาวหางพุ่งชนดาวพฤหัสบดี ผลกระทบต่อดาวพฤหัสบดีมีไม่มากนัก จากการพบไดโนเสาร์ที่มีขนคล้ายนกในประเทศจีนและรูปร่างลักษณะของนกหลายอย่างคล้ายไดโนเสาร์ จึงน่าจะเป็นไปได้ที่ไดโนเสาร์ได้มีการปรับตัวไปตามสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปและเมื่อธรรมชาติไม่เหมาะสมกับความเป็นอยู่จึงค่อยเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาพใหม่หรือสูญหายไปเลย

ผู้เขียน : ศ.ดร. ประเสริฐ วิทยารัฐ ภาคีสมาชิก ประเภทสังคมศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๔๔ มกราคม ๒๕๓๘