“ประสบ” หรือ “ประสพ”

          คำ “ประสบ” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามว่า เป็นกริยา หมายถึง “พบ พบปะ พบเห็น” คำที่มี “ประสบ” ประกอบอยู่ด้วย พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “ประสบการณ์” และ“ประสบการณ์นิยม”

          ส่วนคำ “ประสพ” พจนานุกรมฯ นิยามว่า “การเกิดผล” และบอกที่มาของคำว่ามาจากภาษาสันสกฤตว่า “ปฺรสว” ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า “ปสว”

          ในภาษาบาลี มีคำหนึ่ง คือ “ปสวติ” ซึ่งเป็นคำกิริยา เช่น ประโยคว่า สทฺโธ กุลปุตฺโต พหุ ปุฺ ปสวติ แปลเป็นไทยว่า กุลบุตรผู้มีศรัทธาจึงประสบบุญเป็นอันมาก ตัวอย่างที่ยกมานี้เพื่อแสดงว่า “ประสพ” มีหลักฐานการใช้คำนี้อยู่ แต่ยังหาตัวอย่างในภาษาไทยไม่ได้ ดังนั้น หากผู้อ่านท่านใดพบตัวอย่างการใช้คำนี้ ขอได้โปรดแจ้งให้ราชบัณฑิตยสถานทราบ เพื่อจะให้เก็บเป็นตัวอย่างของการใช้คำต่อไป

          ส่วนที่มักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า จะใช้ “ประสบความสำเร็จ” หรือ “ประสพความสำเร็จ” นั้น ตอบแบบฟันธงได้ทันทีว่า ใช้ว่า “ประสบความสำเร็จ”

          ในการประชุมคณะกรรมการวิชาการของราชบัณฑิตยสถานคณะหนึ่ง คณะกรรมการจะบัญญัติภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยว่า “บังคั่น” ได้มีกรรมการท่านหนึ่งถามว่า ในภาษาไทย คำว่า “คั่น” กับ “ขั้น” ใช้ต่างกันอย่างไร ผู้เขียนเห็นว่าทั้ง “คั่น” และ “ขั้น” ก็น่าสนใจ ควรนำมาแสดงให้เห็นถึงข้อแตกต่างของการใช้คำดังกล่าวด้วย

          “คั่น” พจนานุกรมฯ นิยามว่า เป็นกริยา หมายถึง “แทรกหรือกั้นอยู่ในระหว่าง” ส่วน “ขั้น” พจนานุกรมฯ นิยามว่า เป็นนาม หมายถึง “ชั้นที่ทำลดหลั่นกันเป็นลำดับ เช่น ขั้นบันได; ลำดับ ตอน เช่น ในขั้นนี้” คำว่า “คั่น” กับ “ขั้น” ถึงแม้จะพ้องเสียงกัน แต่ใช้ต่างกันนะครับ

สำรวย นักการเรียน