ภาวะ สภาวะ สภาพ สถานะ

          ท่านผู้อ่านเคยรู้สึกไหมครับว่า คำบางคำนั้น เหมือนว่าจะเข้าใจความหมายได้ดี แต่ถ้าให้อธิบายให้ชัดเจนลงไป กลับอธิบายไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการนำคำ “ภาวะ สภาวะ สภาพ สถานะ” มาอธิบาย

          คำว่า “ภาวะ” มาจากคำบาลีและสันสกฤตว่า “ภาว” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า “ความมี ความเป็น ความปรากฏ เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ”

          คำว่า “สภาวะ” มาจากคำบาลีว่า “สภาว” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า “สภาพ เช่น สภาวะดินฟ้าอากาศ”

          คำว่า “สภาพ” มาจากคำบาลีว่า “สภาว” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า “ความเป็นเองตามธรรมดาหรือตามธรรมชาติ เช่น สภาพความเป็นอยู่ สภาพดินฟ้าอากาศ ลักษณะในตัวเอง; ภาวะ ธรรมชาติ”

          คำ “สถานะ” มาจากคำสันสกฤตว่า “สฺถาน” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า “ความเป็นไป ความเป็นอยู่ เช่น เขาอยู่ในสถานะยากไร้ เศรษฐกิจของประเทศไทยมีสถานะมั่นคง น้ำมีสถานะปรกติเป็นของเหลว”

          เมื่อทราบถึงที่มาของแต่ละศัพท์แล้ว ทำให้ได้ข้อสรุปได้ดังนี้

          คำว่า “สภาวะ” กับ “สภาพ” มีรากศัพท์มาจากคำเดียวกันจึงใช้แทนกันได้ ความหมายหลักคือ ลักษณะความเป็นอยู่โดยธรรมชาติ

          คำว่า “ภาวะ” หมายถึง ความมีหรือความเป็นโดยทั่ว ๆ ไปของบุคคลนั้นหรือของสิ่งนั้น โดยเกิดจากผลที่มีผู้ได้กระทำขึ้นหรือก่อขึ้น

          ส่วนคำว่า “สถานะ” หมายถึง ลักษณะความเป็นอยู่

          ต่อไปนี้ หวังว่าท่านผู้อ่านคงแยกความแตกต่างของคำดังกล่าวได้ถูกต้อง

       สำรวย นักการเรียน