ย่อคำให้ได้ความ

          คำนำหน้านามเกี่ยวกับวิชาชีพต่าง ๆ ไม่ได้ใช้เป็นคำนำนามในหนังสือราชการตามระเบียบสารบรรณว่าด้วยการใช้คำนำนาม แต่ผู้อยู่ในแวดวงวิชาชีพนั้น ๆ ยังคงใช้กันอยู่ โดยเฉพาะวงวิชาชีพทางแพทย์ ซึ่งคำย่อที่ใช้ยังลักลั่นกัน เช่น คำว่า “นายสัตวแพทย์” มีทั้งที่ใช้อักษรย่อว่า สพ. นสพ. น.สพ. คำว่า “สัตวแพทย์หญิง” มีทั้งที่ใช้อักษรย่อว่า สพญ. สพ.ญ. และโดยที่ราชบัณฑิตยสถานได้เคยกำหนดคำย่อของนายสัตวแพทย์ ว่า สพ. มีผู้ท้วงติงและให้ข้อมูลเรื่องการใช้อักษรย่อดังกล่าวว่าผู้ที่อยู่ในแวดวงวิชาชีพสัตวแพทย์ใช้อักษรย่อ สพ. แก่สัตวแพทย์ทั้งชายและหญิงที่จบประกาศนียบัตร แต่ถ้าเป็นสัตวแพทย์ปริญญาที่เป็นชาย เรียกว่า นายสัตวแพทย์ ใช้อักษรย่อว่า น.สพ. ส่วนสัตวแพทย์หญิง ใช้อักษรย่อว่า สพ.ญ. คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยแห่งราชบัณฑิตยสถาน จึงได้นำเรื่องนี้มาพิจารณาโดยได้สอบถามข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้ความตรงตามที่มีผู้ทักท้วงมา เพื่อมิให้การใช้อักษรย่อของคำว่า นายสัตวแพทย์ สัตว์แพทย์หญิง และ สัตวแพทย์ มีความลักลั่นและสื่อความหมายได้ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง และโดยที่หลักเกณฑ์การย่อคำของราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้ใช้พยัญชนะต้นของแต่ละพยางค์ แล้วรวบจุดหลังพยัญชนะตัวสุดท้ายเพียงจุดเดียว คำ นายแพทย์ จึงย่อว่า นพ. และคำว่า แพทย์หญิง ย่อว่า พญ. คำว่า ทันตแพทย์ ย่อว่า ทพ. และ ทันตแพทย์หญิง ย่อว่า ทพญ. คำว่า เภสัชกร ย่อว่า ภก. และเภสัชกรหญิง ย่อว่า ภกญ. คำว่า เทคนิคการแพทย์ ย่อว่า ทนพ. และเทคนิคการแพทย์หญิง ย่อว่า ทนพญ. คำว่า พยาบาล ย่อว่า พย. และพยาบาลชาย ย่อว่า พยช. ตามลำดับ  คณะกรรมการฯ จึงได้มีความเห็นให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้ในการย่อคำว่า นายสัตวแพทย์ สัตวแพทย์หญิง และสัตวแพทย์ กล่าวคือ  คำว่า สัตวแพทย์ (สัตวแพทย์ทั้งชายและหญิงที่จบประกาศนียบัตร) ให้ใช้ว่า สพ.  คำว่า นายสัตวแพทย์ (สัตวแพทย์ปริญญาที่เป็นชาย) ให้ใช้ว่า นสพ.  คำว่า สัตวแพทย์หญิง (สัตวแพทย์ปริญญาที่เป็นหญิง) ให้ใช้ว่า สพญ.  และแม้ว่าการย่อคำว่า นายสัตวแพทย์ ใช้ว่า นสพ.  เหมือนกับการย่อคำว่า หนังสือพิมพ์  แต่การสื่อความย่อมต้องอาศัยบริบทหรือข้อความที่อยู่แวดล้อมในการพิจารณาประกอบด้วย จึงทำให้ทราบได้ว่า นสพ. ในกรณีนั้น ๆ หมายถึงคำใด.

  สุปัญญา  ชมจินดา