ฤาษี ชีเปลือย นักพรต

          หัวข้อสนทนาที่นิยมของใคร ๆ ระยะนี้ เชื่อว่าคงมีเรื่องกิจกรรมที่คิดว่าจะทำในช่วงวันหยุดปีใหม่ ว่าจะทำอะไร ไปไหน อย่างไร ซึ่งได้รับทราบคำตอบต่างกันไป บ้างก็ว่ากลับบ้านต่างจังหวัด  บ้างก็ไปเที่ยวภาคเหนือ  แต่คำตอบของบางคนซึ่งนำไปสู่การขบคิดก็คือ จะไปสาธารณรัฐอินเดียเพื่อดูเทวสถานและดูวิถีชีวิตผู้คนที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วงผู้เดินทางเกรงว่าอาจได้เห็นฤๅษี ชีเปลือย บริเวณนั้น เนื่องจากต้นเดือนมกราคมมีเทศกาลกุมภเมลา ซึ่งเป็นเทศกาลที่นักพรตในศาสนาฮินดูเดินทางมาชำระบาปในแม่น้ำ โดยจะเปลือยกายที่ริมฝั่งและเดินลงสู่แม่น้ำเพื่อทำพิธีชำระบาป  ฤๅษี ชีเปลือย และนักพรต ที่ว่านี้แท้จริงแล้วเป็นบุคคลจำพวกใด

          ความหมายของคำ “ฤๅษี”  ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายถึง “นักบวชพวกหนึ่งมีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบำเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ”  คำว่า  “ชีเปลือย”  ในพจนานุกรมฉบับเดียวกัน กล่าวว่าหมายถึง “นักบวชจำพวกหนึ่ง ถือเพศเปลือยกาย”    ส่วนคำว่า “นักพรต”  นั้น คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า คือนักบวชในศาสนาฮินดูผู้บำเพ็ญพรต  คำว่า  “พรต”  มาจากภาษาสันสกฤตว่า  vrata   แปลว่า การลั่นสัจวาจาว่าจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นกิจวัตร ตรงกับคำ “vow” ในภาษาอังกฤษ เช่น ลั่นสัจวาจาว่าจะไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ไม่เสพเมถุน ยืนขาเดียว นอนบนตะปู การบำเพ็ญพรตใกล้เคียงกับการบำเพ็ญตบะ  ซึ่งเป็นการทรมานตัวเพื่อให้กิเลสเบาบาง มุ่งแสวงหาความหลุดพ้นหรือโมกษะ

          เมื่อ ฤๅษี ชีเปลือย และนักพรต มีวิถีชีวิตที่น่ายกย่องเช่นนี้แล้ว หากพบ ฤๅษี ชีเปลือย และนักพรตที่ใด ๆ จึงควรมีใจอนุโมทนาในการกระทำดีของท่าน  และยึดแนวทางของท่านปรับใช้ในการดำรงชีวิตของเราด้วย เช่น เราอาจลั่นสัจวาจาว่าจะไม่นอนตื่นสาย จะมองโลกในแง่ดี และจะระงับความโกรธให้ได้ หากทำได้เช่นนี้ จึงจะนับได้ว่าการเดินทางไปสาธารณรัฐอินเดียครั้งนี้มีคุณค่า และยกระดับจิตใจผู้เดินทางที่มากกว่าจุดประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว

              ปาริชาติ  กิตินันทน์