ศาสตราภิชาน 

ศาสตราจารย์ (professor) เป็นตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย  ซึ่งเริ่มต้นจาก อาจารย์ (instructor) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (assistant professor) รองศาสตราจารย์ (associate professor) และศาสตราจารย์ (professor) ตามลำดับ

ส่วน ศาสตราภิชาน  (distinguished scholar) นั้น คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หมายถึง  ตำแหน่งที่ไม่ใช่การกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย แต่งตั้งเพื่อจูงใจผู้ทรงคุณวุฒิมาทำงานในมหาวิทยาลัย  เป็นตำแหน่งที่ได้รับเงินสนับสนุนอย่างพอเพียงจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัย ผู้ได้รับการแต่งตั้งอาจเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ หรือนักวิชาการที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางวิชาการก็ได้  เป็นตำแหน่งที่กำหนดภารกิจชัดเจน มีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและมีค่าตอบแทนของแต่ละตำแหน่งไม่เท่ากัน ศาสตราภิชานเป็นตำแหน่งที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติและยกย่องผู้มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานทางวิชาการดีเด่น และเป็นผู้ทรงคุณธรรม ตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการแต่งตั้งศาสตราภิชาน พ.ศ. ๒๕๕๒ กำหนดวัตถุประสงค์ของการแต่งตั้งศาสตราภิชาน ดังนี้  ๑) ยกย่องผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ  ๒) เป็นกำลังใจแก่ผู้เชี่ยวชาญที่อุทิศตนเพื่อวิชาการ  ๓) สนับสนุนให้มีการพัฒนาทางวิชาการ  ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราภิชาน มีสิทธิใช้คำว่า “ศาสตราภิชานเงินทุน…” แล้วตามด้วยชื่อเงินทุนศาสตราภิชานนั้น ๆ ตามประกาศแต่งตั้งของสภามหาวิทยาลัยต่อท้ายชื่อของตนเองตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งศาสตราภิชาน  ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราภิชาน ได้รับเงินสมนาคุณสำหรับตำแหน่ง จากเงินทุนศาสตราภิชานนั้น ๆ ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง โดยมีพันธกิจที่จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทางวิชาการแก่มหาวิทยาลัยตามที่ตกลง.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก