สถานที่และภูมิภาค

          ชีวิตมนุษย์มีความผูกพันอยู่กับถิ่นที่อยู่ เรามีที่มาจากที่ใดที่หนึ่ง แห่งใดแห่งหนึ่ง คนเราอยู่เป็นที่ เราปกป้องและหวงแหนถิ่นที่อยู่อันเป็นบ้านเกิดของเรา ความสำนึกเกี่ยวกับตัวเราผูกพันอยู่กับสถานที่ (place) “เราเป็นใคร” กับ “เรามาจากไหน” แยกกันไม่ออก สถานที่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และคนที่รับรู้เชิงภูมิศาสตร์ต้องเข้าใจที่มาพัฒนาการ และความหมายของสถานที่หรือเทศะ

          สถานที่จัดเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของผิวโลก อันมีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไป แต่ทุกขนาดต่างก็มีความหมายต่อมนุษย์ สถานที่อาจมีความหมายตั้งแต่ทวีป เกาะ ประเทศ ภูมิภาค รัฐ เมือง ละแวก หมู่บ้าน ชนบท หรือถิ่นไร้ที่อยู่โดยทั่วไปมีชื่อเฉพาะตัวภูมินาม (place name) และมีอาณาบริเวณ มีอาณาเขต สถานที่แต่ละแห่งมีคุณสมบัติโดดเด่นทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้อันเป็นสื่อทำให้สถานที่หนึ่งแตกต่างจากอีกที่หนึ่ง

          คุณสมบัติดังกล่าวเกิดจากปัจจัยทางด้านกายภาพและปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม คุณสมบัติทางด้านกายภาพของสถานที่ประกอบด้วย ภูมิอากาศ ซึ่งเกิดจากตัวร่วมของอุณหภูมิ ปริมาณฝน ความชื้น การระเหย ฯลฯ ภูมิประเทศอันหมายถึงเป็นภูเขา ที่ราบ ที่ราบสูง หรือลุ่มน้ำ ลักษณะผิวดินอันราบเรียบ ขรุขระ สูง ๆ ต่ำ ๆ ระบบอุทก พืชพรรณ อันปกคลุมดิน ตลอดจนสรรพสัตว์อันมีชีวิตอยู่ในภูมิประเทศดังกล่าว

          ส่วนองค์ประกอบทางด้านวัฒนธรรมของสถานที่ประกอบด้วยจำนวนประชากรและความหนาแน่นและการกระจายตัวตลอดจนชาติพันธุ์ของกลุ่มชนเหล่านั้น ภาษา ศาสนา ระบบความเชื่อ ระบอบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและคุณภาพชีวิต เป็นต้น

          สถานที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เมื่อกระบวนการทางด้านกายภาพและด้านวัฒนธรรมแสดงออกซึ่งความเปลี่ยนแปลง สถานที่บนผิวโลกน้อยแห่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดผลตามมานานาประการ

          ในขณะที่จำนวนประชากรในพื้นที่ได้เปลี่ยนไป ความรู้ อุดมการณ์ ค่านิยม ทรัพยากร และเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลง คนเราได้ตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดิน การจัดระบบสังคม และวิธีการอันแสดงความสัมพันธ์กับบริเวณทั้งใกล้และไกลออกไป กระบวนการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดสถานที่ใหม่ ส่วนสถานที่เดิมได้จัดรูปแบบใหม่และเกิดการขยายตัว ในขณะที่สถานที่บางแห่งกลับเสื่อมโทรมไป บางแห่งก็สาบสูญไป สถานที่จึงเปลี่ยนทั้งขนาด ความซับซ้อน และความสำคัญ

          ในขณะที่โครงข่ายความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่ก็ได้เปลี่ยนไปในลักษณะต่าง ๆ กัน การเพิ่มประชากร การเกิดใหม่หรือการล่มสลายของอาณาจักร การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและระบบกายภาพอื่น ๆ ตลอดจนการทำสงคราม เกิดข้าวยากหมากแพง การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทางด้านการก่อสร้างคมนาคมและการสื่อสาร ต่างเคยมีผลกระทบต่อสถานที่มามากต่อมากแล้ว สถานที่จึงเปลี่ยนแปลงอย่างน่าพิศวงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ

          การรับรู้เกี่ยวกับสาเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงของสถานที่ที่ผ่านมา อาจช่วยให้มนุษย์เราเข้าใจถึงความจำเป็นต่าง ๆ ในเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับว่าจะกำหนดทำเลกิจกรรมตรงไหน การใช้สภาพแวดล้อมทางกายภาพอย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นลักษณะดิน แหล่งน้ำ หรือพืชพรรณ

          การทราบองค์ประกอบทางด้านกายภาพและด้านวัฒนธรรมของสถานที่ย่อมมีอิทธิพลต่อแนวความคิดของคนว่าเขาเป็นใคร เนื่องจากคุณลักษณะหรือเอกลักษณ์ย่อมผูกพันอย่างซับซ้อนอยู่กับสถานที่

          เอกลักษณ์ส่วนตัวหรือส่วนรวม และคุณลักษณะประจำชาติมีรากเหง้ามาจากภูมินามและผูกพันอยู่กับสถานที่ การรู้เกี่ยวกับภูมินามทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท้องถิ่น เรื่องระดับโลกต่างก็ถูกผนวกเข้าไว้ในจินตภาพทางสมอง (mental map) ของคนเรา หากเราเข้าใจในสถานที่หนึ่งว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น จะช่วยให้เขาผู้นั้นสำนึกในค่าของเอกลักษณ์เหล่านั้น จะช่วยให้เข้าใจและซาบซึ้งในเรื่องความแตกต่างและความคล้ายคลึงหรือความเหมือนของสถานที่ ของชุมชนของประเทศ และของโลกใบนี้

          ภูมิภาค (region) จึงเป็นแนวความคิดที่ใช้ในการระบุ กำหนด และจัดระบบพื้นที่บนผิวโลก เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน ภูมิภาคหนึ่ง ๆ มีคุณสมบัติประการหนึ่งซึ่งใช้เป็นเครื่องวัดความกลมกลืนและความโดดเด่นอันทำให้ภูมิภาคไม่เหมือนกันเปรียบประดุจโลกซ้อนโลกอยู่ ภูมิภาคก็เช่นกันนำมาใช้เพื่อจัดระบบผิวโลกว่าประกอบด้วยคุณสมบัติทางด้านกายภาพและวัฒนธรรมอย่างไรก็บ้าง ผลก็คือภูมิภาคเป็นสื่อที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจากเกณฑ์ต่าง ๆ ขนาดของภูมิภาคจะแตกต่างกันไปตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับโลก ภูมิภาคอาจซ้อนกันหรือแยกกันเด็ดขาด อาจแบ่งภูมิภาคได้ทั้งโลก หรือแบ่งได้เป็นบางส่วน ภูมิภาคอาจซ้อนกันอยู่เป็นลำดับศักย์ จนเกิดเป็นโมเสกหลายระดับ การเข้าใจแนวความคิดเกี่ยวกับภูมิภาคและกระบวนการสร้างภูมิภาคจึงเป็นการรับรู้เบื้องต้นเชิงภูมิศาสตร์

          การเข้าใจธรรมชาติของภูมิภาคต้องอาศัยการเข้าถึงแบบยืดหยุ่น เกณฑ์อันนำมาใช้กำหนดและสร้างภูมิภาคอาจมีความแน่นอนเชิงพื้นที่ เช่น ชายฝั่งทะเล หรืออาณาเขตประเทศ หรือไร้ขอบเขต ดังเช่นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มคนอันจงรักภักดีต่อทีมกีฬาชนิดหนึ่ง หรือการกำหนดเขตตลาดเพื่อวางจำหน่ายแผ่นเสียงชนิดหนึ่ง ภูมิภาคอาจมีขนาดเล็กเท่าละแวก หรือมีขนาดใหญ่หลายพันตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการสร้างภูมิภาคนั่นเอง

          การรับรู้หรือสัญชาน (perception) เกี่ยวกับสถานที่และภูมิภาคย่อมแตกต่างกันไป ทรรศนะที่มีต่อสถานที่หนึ่งภูมิภาคหนึ่งคือการตีความหมายของสถานที่นั้นในแง่ทำเลที่ตั้ง ขอบเขต คุณลักษณะ และความหมายอันมีอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมและประสบการณ์ของผู้นั้น มีการพูดกันว่าไม่มีข้อเท็จจริงมีแต่สัญชานในทางภูมิศาสตร์ เมื่อกล่าวถึงสถานที่หนึ่ง สถานที่หนึ่งจึงหมายถึงส่วนผสมของอาณาจักรแห่งความจริงผสมกับวัตถุวิสัยและอัตวิสัยของผู้นั้น

          ด้วยเหตุนี้เองผู้รับรู้ข่าวสารเชิงภูมิศาสตร์ต้องเข้าใจภูมิภาคทั้ง ๒ แบบ คือแบบที่เป็นจริงและที่ควรจะเป็นลำพังชีวิตของคนเรามีอัตชีวประวัติและประสบการณ์ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากจินตภาพทางสมอง จินตภาพเกี่ยวกับโลกอาจเปลี่ยนแปลงแต่ละวันและจากประสบการณ์หนึ่งไปสู่อีกประสบการณ์หนึ่ง ผลก็คือคนเราได้ปรุงแต่งสถานที่และภูมิภาคด้วยความหมายอันแตกต่างกันไป ในการอธิบายความเชื่อและการกระทำของตน คนเรามักอ้างถึง อายุ เพศ ชนชั้น ภาษา เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา แต่ในบางครั้งก็เอาค่านิยมร่วมมาอ้างบ้าง ความเชื่อและค่านิยมร่วมเหล่านั้นได้สะท้อนให้เห็นว่า คนเราได้ยึดเอาคุณสมบัติของกลุ่มอยู่บ้าง ค่านิยมของกลุ่มโดยทั่วไปมีความซับซ้อน สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสัญชานของบุคคลว่าเข้าใจตนเองและกลุ่มอื่นอย่างไร นั่นคือมีสัญชานอย่างไรต่อพื้นที่อื่น ภูมิภาคอื่น.

ผู้เขียน : ศ. ดร. ฉัตรชัย พงศ์ประยูร ราชบัณฑิต ประเภทสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภูมิศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๕๙ เมษายน ๒๕๓๙