สวดแจง

          คำว่า แจง หมายถึง การนำความเป็นมาของการสังคายนาหรือการชำระสอบสวนจัดหมวดหมู่คำสอนในพระพุทธศาสนามาอธิบายขยายความ ซึ่งการสังคายนาที่นำมาแจงหรืออธิบายนั้นจะเป็นการสังคายนา ครั้งที่ ๑ ในการ แจง นั้น มี (๑) เทศน์แจง (๒) สวดแจง

          (๑) เทศน์แจง คือ การที่พระสงฆ์ ๓ รูปแสดงความเป็นมาของการสังคายนา ครั้งที่ ๑ กล่าวคือ สมมุติรูปหนึ่งเป็นพระมหากัสสปะ เป็นผู้ซักถาม สมมุติรูปหนึ่งเป็นพระอุบาลี เป็นผู้ตอบในเรื่องของพระวินัยปิฎก และสมมุติอีกรูปหนึ่งเป็นพระอานนท์ เป็นผู้ตอบในเรื่องพระสุตตันตปิฎก แต่ต่อมาลดเหลือเพียง ๑ รูปก็มี

          (๒) สวดแจง คือ การที่พระสงฆ์จำนวนอย่างน้อย ๒๕ รูปสาธยายบทมาติกาพระวินัย บทมาติกาพระสูตร และบทมาติกาพระอภิธรรม

          สังคายนา ครั้งที่ ๑ มีประวัติความเป็นมา คือ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๗ วัน พระมหากัสสปะทราบข่าว บรรดาภิกษุทั้งหลายในคณะของท่านร้องไห้เศร้าโศก แต่พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่ได้ห้ามภิกษุเหล่านั้นมิให้เสียใจร้องไห้ เพราะต่อไปนี้จะทำอะไรได้ตามแล้ว ไม่ต้องมีใครคอยมาชี้แนะว่า นี่ผิด นี่ถูก นี่ควร นี่ไม่ควร อีกต่อไป พระมหากัสสปะสลดใจในถ้อยคำของพระสุภัททะ จึงนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมสงฆ์หลังปลงพระพุทธสรีระเสร็จแล้ว และเสนอให้ทำสังคายนาร้อยกรองจัดระเบียบพระธรรมวินัย ที่ประชุมสงฆ์ก็ได้ให้ความเห็นชอบให้จัดประชุมทำสังคายนาขึ้นที่กรุงราชคฤห์ หลังจากนั้นไป ๓ เดือน และมีมติคัดเลือกพระอรหันต์ผู้เข้าร่วมทำสังคายนาจำนวน ๕๐๐ รูป รวมทั้งพระอานนท์ผู้ทรงจำพระธรรมวินัยเป็นเลิศ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระโสดาบัน

          การทำสังคายนา ครั้งที่ ๑ นี้ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ มีพระมหากัสสปะเป็นประธานและเป็นผู้ซักถาม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระวินัย พระอานนท์ (บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์แล้ว) เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางธรรม มีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ กระทำอยู่ ๗ เดือน จึงสำเร็จ

สำรวย นักการเรียน