สัน-ในคำพ้องเสียง

          คำที่ออกเสียงว่า สัน ในภาษาไทย มีการเขียนได้หลากหลายแบบ อาทิ สันต์ สรร สรรค์ สรรพ (บ้างอ่าน สับ สับพะ บ้างอ่าน สันพะ แล้วแต่คำที่ไปประสม) ผู้เขียนพบเห็นการเขียนผิดบ่อยครั้ง จึงขอคัดคำพ้องนี้มาให้ผู้อ่านได้รู้และใช้ให้ถูกต้อง สัน มี ๒ ความหมาย ความหมายแรก คือ สิ่งที่มีลักษณะนูนสูงขึ้นเป็นแนวยาว เช่น สันหลังคา สันหน้าแข้ง ดั้งจมูกเป็นสัน; ส่วนหนาของมีดหรือขวานซึ่งอยู่ตรงข้ามกับคม ความหมายที่ ๒ เป็นภาษาถิ่นพายัพ แปลว่า ปีวอก สันต์ เงียบ สงบ สงัด สันติ ความสงบ เช่น อยู่ร่วมกันโดยสันติ สรร  เลือก คัด เช่น จัดสรร เลือกสรร มาจากคำเขมรว่า สรัล สรรแสร้ง เป็นกริยา แปลว่า เลือกว่า แกล้งเลือก สรรหา  เลือกมา คัดมา สรรค์ สร้างให้มีให้เป็นขึ้น มักใช้เข้าคู่กับคำ สร้าง เป็น สรรค์สร้าง หรือ สร้างสรรค์

          สรรพ สรรพ– [สับ สับพะ–] ทุกสิ่ง ทั้งปวง ทั้งหมด เช่น พร้อมสรรพ งามสรรพ เสร็จสรรพ สรรพสามิต [สับพะ– สันพะ–] อากรที่เก็บจากสิ่งประดิษฐ์และผลิตขึ้นภายในประเทศ เรียกว่า อากรสรรพสามิต สรรพากร [สันพากอน] อากรที่เก็บจากสิ่งที่เป็นเองหรือมีบ่อเกิดเป็นรายได้ สรรพางค์ [สันระพาง] ทั้งตัว ทั่วตัว มักใช้เข้าคู่กับคำ กาย เป็น สรรพางค์กาย เช่น เจ็บปวดทั่วสรรพางค์กาย สรรเพชญ ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้รู้ทั่ว พระนามของพระพุทธเจ้า สรรเสริญ [สันเสิน สันระเสิน] กล่าวคํายกย่อง เชิดชู หรือ เทิดทูน เช่น สรรเสริญพระพุทธคุณ กล่าวคําชมด้วยความนิยมพอใจ หรือเยินยอคุณความดี สังสรรค์ พบปะวิสาสะกันเป็นครั้งคราวด้วยความสนิทสนม

          กระสัน มีความหมายหลายนัย เป็นคำกริยา หมายถึง คะนึง คิดผูกพันอยู่ มีใจจดจ่ออยู่; กระวนกระวายในกาม; ผูกให้แน่น เช่น กระสันเข้าไว้กับหลัก; รัด เช่น สายกระสัน; ต่อเนื่อง เช่น มุขกระสัน; เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง แน่น

          กระสัน ในภาษาปาก หมายถึง ต้องการมาก เช่น กระสันจะเป็นรัฐมนตรี  คงเพราะตำแหน่งมีน้อย แต่คนอยากเป็นมาก ดังที่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า อุปสงค์กับอุปทานไม่สอดคล้องกันนั่นเองค่ะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ