หัวมังกุท้ายมังกร

          สำนวน สุภาษิต และคำพังเพยในภาษาไทยมีหลายแบบต่าง ๆ กันมากมาย ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นถ้อยคำสั้น ๆ กะทัดรัด โดยนำคำมาเรียงกันเข้าด้วยวิธีซ้ำคำบ้าง สัมผัสสระและพยัญชนะบ้าง ใช้คำคล้องจองกันบ้าง สำหรับเป็นข้อคิดเตือนใจหรือใช้ในความหมายเชิงเปรียบเทียบ เช่น กงเกวียนกำเกวียน ผัดวันประกันพรุ่ง คมในฝัก

          สำนวน สุภาษิต และคำพังเพยเหล่านี้มีใช้กันตั้งแต่สมัยโบราณและพูดต่อ ๆ กันมา บางสำนวนก็เลือนหายไป ไม่นิยมพูดกัน จะพบก็แต่ในวรรณคดีบางเล่มเท่านั้น เช่น สำนวน “ว่าวขาดลม” หรือ “ว่าวขาดลมลอย” พบในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างเพื่อลักตัวนางวันทอง และนางวันทองกล่าวลาขุนช้างว่า “จะจากเจ้าเหมือนดังว่าวขาดลมลอย อย่าหมายคอยเลยว่าเมียจะเป็นตัว” สำนวน “ว่าวขาดลม” หรือ “ว่าวขาดลมลอย” นี้ มีความหมายว่า จากไปไม่กลับ เหมือนอย่างว่าวที่ขาดลอยไปตามลม ไม่มีวันที่จะหวนกลับคืนมาได้อีก สำนวนเก่า ๆ เช่นนี้นับวันมีแต่จะหมดไปเพราะไม่มีใครรู้จัก

          นอกจากนี้ ยังมีสำนวนไทยอีกหลายสำนวนที่นำไปพูดกันผิด ๆ เพราะเข้าใจผิดหรือจำกันมาผิด ๆ สำนวนที่พบว่าพูดกันผิดมากก็คือ สำนวน “หัวมังกุท้ายมังกร” มักจะพูดผิดเป็น “หัวมงกุฎท้ายมังกร” เสมอ

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๔ เก็บสำนวน “หัวมังกุท้ายมังกร” ไว้เป็นลูกคำของคำว่า “หัว ๒” (หน้า ๘๖๖) หมายความว่า “ว.ไม่เข้ากัน ไม่กลมกลืนกัน มีหลายอย่างปนเปกันจนหมดงาม.”

          ที่มาของสำนวนนี้ “ขุนวิจิตรมาตรา” หรือ “กาญจนาคพันธุ์” ได้เขียนไว้ในหนังสือสำนวนไทย ภาค ๒ ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมสาส์น วังบูรพา เป็นผู้พิมพ์จำหน่าย ท่านอธิบายไว้ว่า

          “หัวมังกุท้ายมังกร หมายความว่า ไม่เข้ากัน ขัดกันในตัว ทรวดทรงเรือนร่างต่างลักษณะไม่กลมกลืนกันตามที่ควรเป็น ฯลฯ คำว่า “มังกุ” ได้พบหนังสือเก่าแปลว่า “เรือต่อ” ชนิดหนึ่งเป็นรูปยาว กับแปลว่าเป็นชื่อสัตว์นิยายชนิดหนึ่ง ไม่บอกว่ารูปร่างอย่างไร สันนิษฐานตามนี้ ทำให้เข้าใจว่าเรือมังกุนั้นคงจะมีหัวเป็นรูปสัตว์ ดังในเห่เรือว่า “นาวาแน่นเป็นขนัด ล้วนรูปสัตว์แสนยากร” สมัยโบราณคงจะมีเรือชนิดหนึ่ง หัวเรือทำเป็นรูปสัตว์ที่เรียก “มังกุ” แต่ท้ายเรือทำเป็นรูปอย่างมังกร รูปร่างลักษณะเรือคงจะดูแปลก จึงได้เรียก “หัวมังกุท้ายมังกร” ต่อมาคำ “หัวมังกุท้ายมังกร” เลยกลายเป็นสำนวนหมายถึงอะไรที่ในตัวมีลักษณะต่างกัน ไม่เป็นไปตามที่ควรเป็น คือ เข้ากันไม่ได้ ขัดกัน ขืนกัน ไม่กลมกลืนกัน…”

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เก็บคำ “มังกุ” ไว้ ๒ ความหมาย (หน้า ๖๗๗) คือ

          “มังกุ ๑ น. เรือที่มีกระดูกงูใหญ่ รูปเหมือนเรือโขมดยา หัวเป็น ๓ เส้า เช่น เอาหัวเป็นมังกุ เอาท้ายเป็นมังกร แต่มักใช้เพี้ยนไปเป็น มงกุฏ”.
“มังกุ ๒ ว. เก้อ กระดาก. (ป.).”
และเก็บคำ “มังกร” ไว้ ๓ ความหมาย (หน้า ๖๓๖-๖๓๗) คือ
“มังกร ๑ น. สัตว์ในนิยายจีน รูปร่างคล้ายงู แต่มีตีนมีเขา; ชื่อดาวราศีที่ ๑๐ ใน ๑๒ ราศี.”
“มังกร ๒ น. ชื่อปลาไหลทะเลสกุล Muraenesox…
“มังกร ๓ น. ชื่อกุ้งทะเลขนาดใหญ่หลายชนิดในสกุล Scyllarus…

          ฉะนั้น  สำนวนที่ถูกจึงควรจะพูดว่า “หัวมังกุท้ายมังกร” เพราะทั้ง “มังกุ” และ “มังกร” ต่างก็เป็นสัตว์ในนิยายเหมือนกัน แต่เป็นคนละชนิดกัน เมื่อมาอยู่รวมกันจึงทำให้ไม่กลมกลืนกัน เข้ากันไม่ได้ หากพูดว่า “หัวมงกุฎท้ายมังกร” ก็จะเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าสำนวนนี้ใช้ในความหมายว่า ไม่เข้ากัน เหมือนอย่างมังกรสวมมงกุฎ ทำให้ความหมายเพี้ยนไปจากที่มาเดิม

          สำนวน สุภาษิต และคำพังเพยทุกคำล้วนมีที่มาของความหมายทั้งสิ้น คนโบราณเข้าใจที่จะนำวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ตลอดจนความเป็นอยู่แบบไทย ๆ มาเรียงร้อยผูกกันเข้าเพื่อเป็นคติสอนใจ เราจึงควรช่วยกันรักษาถ้อยคำและความหมายที่ถูกต้องของคำประเภทนี้ไว้ เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของไทยไว้ให้ลูกหลานของเราภายหน้าต่อไป.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๓๒