อัตฆาตกรรม

         ในอเมริกา การฆ่าตัวตายคือสาเหตุสำคัญลำดับที่ ๑๑ ในการทำให้คนเสียชีวิต เพราะทุก ๑๘ นาที จะมีคนอเมริกันฆ่าตัวตาย ๑ คน และทุกนาทีมีคนพยายามฆ่าตัวตาย ๑ คน สถิติชี้บอกว่าถึงแม้ผู้ชายจะประสบความสำเร็จในการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง ๔ เท่า แต่ผู้หญิงก็พยายามจะฆ่าตัวเองมากกว่าผู้ชาย ๒ เท่า ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๓๙ เด็กอเมริกันวัย ๑๕-๑๙ ปีฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐๕ และสำหรับเยาวชนวัย ๑๐-๑๙ ปี อัตฆาตกรรมคือทางเลือกตายที่เป็นที่นิยมมากลำดับสาม นอกจากนี้ การสำรวจยังแสดงให้เห็นอีกว่า สตรีวัย ๔๕-๕๔ ปี ชอบฆ่าตัวตายมากที่สุด และคนที่ติดเหล้าประมาณร้อยละ ๗  ใช้วิธีฆ่าตัวตายในการหนีจากโลกไป อย่างไรก็ตาม การใช้ปืนกำลังเป็นวิธีการทำอัตฆาตกรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกปี

          สำหรับในประเทศไทยเรา สถิติการฆ่าตัวตายไม่ปรากฏละเอียด ทั้งนี้คงเป็นเพราะญาติผู้ตายรู้สึกอับอายสังคม จึงมักไม่รายงานสาเหตุการตาย ถึงกระนั้นแนวโน้มของจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายก็แสดงให้เห็นได้ชัดว่ากำลังเพิ่มทุกปี และผู้หญิงไทยมักใช้วิธีฆ่าตัวตายในการหนีปัญหายิ่งกว่าผู้ชาย ส่วนคนโสดที่ไม่มีห่วงก็มักฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่มีครอบครัวแล้ว

          คำถามหนึ่งที่ใคร ๆ ก็มักถามเวลามีเหตุการณ์คนที่รู้จักปลิดชีวิตตนเองคือ ทำไมและเหตุใดเขาจึงฆ่าตัวตาย ใครกดดันเขาจนทำให้เขารู้สึกว่า เขาไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ทำไมเขาจึงตัดช่องน้อยแต่พอตัว หรือเขาเป็นโรคเศร้าซึมที่รุนแรงและเรื้อรัง จนต้องหาทางออกลักษณะนั้น ฯลฯ และถึงแม้บางคนจะได้รับคำตอบบ้างและไม่ได้รับคำตอบบ้าง แต่ทุกคนที่รู้จักผู้ตายมักจะรู้สึกผิด และจะถามกันและกัน รวมทั้งตนเองว่า ตนหรือใครควรทำอะไรหรือน่าจะทำอะไร ก่อนที่เหตุการณ์เลวร้ายจะเกิด แต่ก็มีความรู้สึกหนึ่งที่คนที่มีชีวิตอยู่ต่อไปจะรู้ดีคือ เขาไม่มีวันรู้สาเหตุที่แน่นอนของการทำให้คนคนนั้นตาย

          ในอดีตนักจิตวิทยาเคยคิดว่า ปัญหาส่วนตัว ปัญหาสังคม สภาพเศรษฐกิจที่ขาดแคลน การสูญเสียคนรัก การถูกปลดจากตำแหน่ง การเป็นโรคร้ายแรงและเรื้อรัง การมีจิตใจที่ยับเยินนี้มีส่วนผลักดันให้คนฆ่าตัวตาย

          แต่นักจิตวิทยาทุกวันนี้ต้องการรู้ยิ่งกว่านั้น เขาต้องการรู้ทุกสาเหตุเชิงปริมาณที่มีส่วนทำให้คนฆ่าตัวตาย เขาต้องการรู้ระดับความอดกลั้น และอดทนของคนที่ฆ่าตัวตายว่า เมื่อไรปัญหาของคนคนนั้น จึงเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้าย และเขาต้องการจะรู้สัญญาณที่บ่งบอกว่าคนคนนั้นกำลังคิดจะฆ่าตัวตายเมื่อไร และจะตัดสินใจลงมือเมื่อไร

          วิธีหนึ่งในการศึกษาปัญหาเชิงปริมาณคือ นำสมองของคนที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมาเปรียบเทียบกับสมองของคนที่ตายเพราะสาเหตุอื่น ซึ่งถ้าเขาพบหรือเห็นความแตกต่างของสมองเขาก็จะใช้ความแตกต่างนั้นในการทำนายและป้องกันการกระทำวิสามัญฆาตกรรมตนเองของคนได้

          ดังนั้น การศึกษาจิตใจในลักษณะนี้ จึงต้องพึ่งพาวิทยาการด้านประสาทวิทยาและชีววิทยาด้วย ถึงแม้ ณ วันนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่ทำให้คนฆ่าตัวตายได้สมบูรณ์ แต่ในอนาคตโลกก็คาดหวังว่าวิทยาศาสตร์จะสามารถตอบคำถาม และค้นหาสาเหตุของการฆ่าตัวตายได้ดีขึ้น

          ในสมัยก่อน นักวิจัยเรื่องอัตฆาตกรรมคิดว่า พันธุกรรมคือสาเหตุหลักที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย เพราะครอบครัวใดที่พ่อหรือแม่หรือคนใกล้ชิดฆ่าตัวตาย ลูกหลานก็มักจะฆ่าตัวตายตาม แต่นักวิจัยบางคนคิดว่า ประสบการณ์เลวร้ายที่สะสมมากจนเวลาเขารับประสบการณ์เลวร้ายเพิ่มเติมถึงระดับความอดกลั้นและอดทนที่จะสู้ชีวิตก็ระเบิด แต่ทุกวันนี้นักวิจัยผู้สนใจศึกษาเรื่องนี้มีความเห็นว่า สาเหตุของการฆ่าตัวตายมีมากมาย เช่น มันอาจจะมีสาเหตุมาจากความบกพร่องทางชีววิทยาและจากประสบการณ์ที่เลวร้าย หรือจากความเครียดที่รุนแรงหรือจากจิตใจที่ผิดปรกติ หรือจากทุก ๆ อย่างดังกล่าวข้างต้น

          Victoria Arango แห่ง New York State Psychiatric Institute ในสหรัฐอเมริกา เป็นนักวิจัยผู้หนึ่งที่สนใจศึกษาเรื่องอัตวินิบาตกรรมนี้  สถาบันที่เธอทำงานมีตัวอย่างสมองของคนที่ฆ่าตัวตายร่วม ๒๐๐ สมอง และนักวิจัยได้ผ่าสมองเหล่านี้เพื่อตรวจสอบโครงสร้างระบบประสาท การเปลี่ยนแปลงทางเคมี และพันธุกรรมในเซลล์สมอง เพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้เจ้าของสมองฆ่าตัวตาย ในขณะเดียวกันเธอก็ได้สัมภาษณ์สมาชิกครอบครัวผู้ใกล้ชิดกับผู้ฆ่าตัวตายด้วย เพื่อให้เข้าใจและรู้สภาพจิตใจของคนฆ่าตัวตาย ในช่วงก่อนกระทำการฆาตกรรมตนเอง จากนั้นเธอก็นำสมองของคนฆ่าตัวตายไปเปรียบเทียบกับสมองของคนปรกติที่ไม่มีปัญหาด้านจิตใจและได้ตายไปขณะมีอายุไล่เลี่ยกัน

          Arango มุ่งศึกษาสมองส่วนที่เรียกว่า prefrontal cortex เพราะสมองส่วนนี้ควบคุมปฏิกิริยาสนองตอบของร่างกายเวลาจิตใจถูกกระตุ้น โดยสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยภัยอันตราย หรือสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกอึดอัด  ทั้งนี้เพราะ Arango ต้องการหาสัญญาณที่เป็นตัวชี้บอกว่า การคิดจะฆ่าตัวตาย ตามปรกติถึงแม้คนบางคนจะเป็นนักวางแผนที่ดี คือชอบวางแผนทุกเรื่อง เช่น แผนเดินทาง แผนแต่งงาน แผนตาย และในกรณีหลังนี้ เขาอาจเขียนพินัยกรรมล่วงหน้า เขียนพิธีจัดศพตนเอง และเขียนจดหมายลาทุกคนเรียบร้อย แต่สำหรับคนหลายคนความรู้สึกอยากตายอาจเกิดขึ้นได้ในบางวัน ในวันที่ตนทำอะไร ๆ ก็ผิดพลาดไปเสียทุกเรื่อง หรือถูกตำหนิจากทุกคน เป็นต้น

          Arango สนใจค้นหาสารประกอบชนิดหนึ่งที่เรียกว่า serotonin ซึ่งมีพบในสมองและสารประกอบชนิดนี้สามารถทำให้จิตใจสงบไม่ว้าวุ่นหรือสับสนได้เพราะนักจิตวิทยาได้รู้มานานร่วม ๒๐ ปีแล้วว่า เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายใครมี serotonin น้อยกว่าปรกติ จิตใจคนคนนั้นจะหดหู่และเศร้าซึม แต่ในกรณีคนบางคน การมี serotonin น้อย อาจทำให้ก้าวร้าว การศึกษาสมองของคนฆ่าตัวตายได้พบ serotonin น้อยในบริเวณบางส่วนของสมองแต่มากในบางส่วน

          ในการประชุมของ American College of Neuropsychopharmacology (เภสัชจิต-ประสาทวิทยา) เมื่อ ๒ ปีก่อน Arango ได้รายงานในที่ประชุมว่า สมองส่วนที่เรียกว่า prefrontal cortex ของคนที่เศร้าซึมและในเวลาต่อมาฆ่าตัวตายนั้น ขาดแคลนฮอร์โมน serotonin อย่างเห็นได้ชัด เพราะคนเหล่านี้จะเศร้าซึมอย่างรุนแรงมากจนยา Prozac ที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการเศร้าซึมธรรมดาช่วยอะไรไม่ได้เลย

          ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนั้น ได้ชักนำให้ John Mann ออกแบบอุปกรณ์ชื่อ PET ซึ่งย่อมาจากคำว่า positron emission tomography สำหรับวิเคราะห์สมองเพื่อค้นหาบริเวณสมองที่ซึมซับยา fenfluramine ซึ่งสามารถทำให้ร่างกายหลั่ง serotonin ได้ อุปกรณ์ PET จึงช่วยให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า สมองส่วนใดเกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับ serotonin มากที่สุด

          ในวารสาร Archives of General Psychiatry ฉบับเดือนมกราคมปีนี้ Mann ได้รายงานว่าในสมองของคนที่ฆ่าตัวตายโดยใช้วิธีที่รุนแรง เช่น กระโดดจากตึกสูง หรือกินยาพิษ มี serotonin น้อย โดยเฉพาะในบริเวณที่เรียกว่า prefrontal cortex

          แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อื่น ๆ อีกหลายคนที่คิดว่า serotonin คงมิได้เป็นปัจจัยสำคัญแต่เพียงปัจจัยเดียวในการผลักดันให้คนฆ่าตัวตาย  ฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น cortisol ซึ่งเวลาจิตใจรู้สึกเครียด ร่างกายจะหลั่งมันออกมาเพื่อบรรเทาความเครียด ก็อาจมีบทบาทในการเหนี่ยวนำให้คนฆ่าหรือไม่ฆ่าตัวตายได้เช่นกัน

          ส่วน Charles Nemeroff แห่ง Emory University School of Medicine คิดว่า ประสบการณ์เลวร้ายที่บังเกิดกับคนในวัยเยาว์ เช่น ถูกข่มขืนหรือถูกทารุณจะฝังลึกลงในสมองของคนคนนั้น จนทำให้ระบบการหลั่งฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ในสมองทำงานผิดปรกติมีบทบาทในการผลักดันให้คนฆ่าตัวตาย

          ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของการฆ่าตัวตาย Mann และคณะได้เสนอความคิดเห็นในวารสาร Archives of General Psychiatry ฉบับเดือนกันยายนปีกลายนี้ว่า สังคมควรเพ่งเล็งและสนใจบรรดาทายาทของคนที่ฆ่าตัวตายบ้าง เพราะบุคคลกำพร้าพ่อแม่กลุ่มนี้จะพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าลูกหลานของพ่อแม่ที่ไม่ได้ฆ่าตัวตายถึง ๖ เท่า และนี่ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งก็ได้ที่ว่า พันธุกรรมคือปัจจัยหนึ่งของการฆ่าตัวตาย

          สำหรับการป้องกันการฆ่าตัวตายนั้น นักจิตวิทยามีความเห็นว่า ครู ผู้ปกครอง หรือคนใกล้ชิดควรสอนหรือชักจูงให้คนที่คิดทำร้ายตัวเอง ให้มีความรู้สึกอดทนต่อปัญหาที่กำลังประสบ โดยให้ความอบอุ่นและสนทนาพาทีกับคนเหล่านี้ เช่น อาสาช่วยแบ่งเบาภาระหรือความทุกข์ไปบ้าง เขาก็จะรู้สึกดีขึ้น หรือให้เขากิน lithium carbonate หรือ lithium citrate ก็จะช่วยให้อารมณ์เขามั่นคงขึ้นบ้าง แต่ยาชนิดนี้สำหรับคนบางคนถ้ากินเข้าไปจะทำให้ขาสั่น มือสั่น กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย เพิ่มน้ำหนัก สมองเบลอและลืมง่าย

          ดังนั้น หากคิดจะบริโภค lithium เขาจะต้องให้แพทย์ตรวจระดับยาในร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

          เพราะถ้าความเข้มข้นของ lithium ในเลือดมีน้อยเกินไป ยาก็จะไม่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าบริโภคมากไปยาก็จะเป็นพิษ

          ในการรักษา จิตแพทย์มักให้คนไข้ที่อารมณ์แปรปรวนมากและเศร้าซึมมากบริโภค lithium และ ณ วันนี้ จิตแพทย์ได้พบหลักฐานที่แสดงว่า ถ้าให้คนไข้บริโภค lithium สม่ำเสมอ เขาจะไม่คิดฆ่าตัวตาย และคนที่ไม่กิน lithium เวลาเศร้าซึมมักจะฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่กินถึง ๑๗ เท่า นั่นคือ lithium สามารถลดการฆ่าตัวตายลงได้ตั้งแต่ ๖-๑๕ เท่า

          ถึงแม้ lithium จะมีประสิทธิภาพสูงถึงปานนี้ก็ตามแต่คนหลายคนก็ไม่กินมัน ยามรู้สึกซึมเศร้า ทั้งนี้เพราะกลัวผลกระทบข้างเคียง เช่น อ้วนขึ้นหรือปัสสาวะบ่อย แต่เราก็ต้องยอมรับว่า การอ้วนขึ้นหรือการไปห้องน้ำบ่อยของเขา ก็ยังดีกว่าการที่เขาตายไปใช่ไหมครับ.

ผู้เขียน : ศ. ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิทยาศาสตร์