แผ่นดินไหว ริกเตอร์ และ อาฟเตอร์ช็อก

          เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า อย่างไรจึงจะเป็นแผ่นดินไหว หลังเกิดแผ่นดินไหวจะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมา และวัดความสั่นไหวได้เท่านี้เท่านั้นริกเตอร์ คำเหล่านี้มีคำอธิบายอย่างไร

          พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของแผ่นดินไหว (earthquake) ว่า หมายถึง การสั่นสะเทือนของแผ่นดินที่รู้สึกได้ในจุดใดจุดหนึ่งบนผิวโลก แผ่นดินไหวส่วนใหญ่เกิดจากการคลายตัวอย่างรวดเร็วของความเครียดภายในเปลือกโลกที่มีการก่อตัวของความเครียดอย่างช้า ๆ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในรูปของการเลื่อนตัวของหินหรือการระเบิดของภูเขาไฟ แต่ในปัจจุบัน การปะทุของระเบิดนิวเคลียร์ก็อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้เหมือนกัน

          ส่วน ริกเตอร์ พจนานุกรมฉบับดังกล่าวระบุว่า เป็นชื่อของมาตราที่ใช้กำหนดขนาดของแผ่นดินไหว นายซี. เอฟ. ริกเตอร์ (C.F. Richter) นักธรณีวิทยาแผ่นดินไหวแห่งสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นผู้คิดค้นและเผยแพร่ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยใช้หลักการจากผลบันทึกของเครื่องวัดความไหวสะเทือนและมีการปรับแก้เกี่ยวกับระยะทางจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว มาตรานี้มีค่าตั้งแต่ ๐-๙

          อาฟเตอร์ช็อก (aftershock) พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่า แผ่นดินไหวตาม และได้อธิบายไว้ว่า คือ แผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้งเป็นเวลา ๑ ถึง ๒ วัน หรืออาจเป็นเดือนก็ได้ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ โดยเกิดขึ้นทันทีที่บริเวณเดียวกันหลังจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นแล้ว หินต่าง ๆ รอบ ๆ ศูนย์กลางไหวสะเทือนใต้ผิวโลกจะพยายามปรับตัวให้คืนสภาพสมดุล ดังนั้น จึงเกิดความไหวสะเทือนตามมาเป็นระยะ ๆ กว่าจะหยุดไหวสนิท

สำรวย นักการเรียน