โทรภาพ-โทรสาร ต่างกันไฉน

          โทรภาพ เป็นศัพท์ที่ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติขึ้นตรงตามความหมายของศัพท์ภาษาอังกฤษ รวมทั้งตรงตามความหมายของศัพท์อังกฤษอีกหลายคำที่เป็นคำไวพจน์กับศัพท์ facsimile เช่น phototelegraphy radio photo telephoto และ telephotography เพราะระบบการส่งข้อมูลของ fax เป็นลักษณะส่งข้อมูลที่ถ่ายทอดภาพข้อมูลที่เหมือนกับต้นฉบับทุกประการไปยังผู้รับข้อมูล มิใช่เป็นการส่งข้อมูลที่เป็นเพียง “สาร” (ถ้อยคำ ข้อความ) แต่อย่างเดียว การส่งข้อมูลที่เป็นจดหมายติดต่อธุรกิจโดยทาง fax ผู้รับที่ปลายทางก็จะได้รับข้อมูลในลักษณะเป็น “ภาพ” ของจดหมายที่เหมือนต้นฉบับของผู้ส่งทุกประการ ราชบัณฑิตยสถานจึงเห็นว่าคำ โทรภาพ เหมาะสมกว่า โทรสาร เนื่องจากถูกต้องกว่าและสื่อความได้กว้างกว่า เพราะ “ภาพ” นั้นมี “สาร” ด้วย

          การสื่อสารแห่งประเทศไทย โดยผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงผ่านคอลัมน์ข้าราชการในหนังสือมติชนรายวัน เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๒ เกี่ยวกับคำ โทรภาพ โทรสาร ซึ่งขอคัดมาไว้ในที่นี้

          “คำว่า โทรภาพ เดิมนั้นบัญญัติจากคำ photograph facimile telegraphy ซึ่งใช้ในการรับ-ส่งภาพถ่ายจากที่หนึ่งไปปรากฏอีกที่หนึ่ง โดยผู้ส่งต้องนำภาพต้นฉบับใส่ไปที่เครื่อง แล้วเรียกติดต่อส่งไปยังปลายทาง และที่เครื่องรับปลายทางนี้สามารถเลือกรับภาพได้โดยใช้ฟิล์มหรือกระดาษอัดรูป หลังจากนั้นจึงนำไปล้าง-อัด เพื่อให้ได้ภาพตามต้องการ

          ต่ อมาได้เกิดการคิดค้นและพัฒนาโทรสารขึ้น เป็นระบบการรับ-ส่งโทรเลขระบบใหม่ที่แตกต่างไปจากระบบโทรภาพแต่เดิมเรียกว่า document facsimile telegraphy ใช้ในการรับ-ส่งเอกสาร ต่าง ๆ มีลักษณะคล้ายกับการถ่ายเอกสาร เพียงแต่เอกสารที่ถ่ายออกมานั้นจะไปปรากฏที่ปลายทาง ทั้งนี้ผู้ส่งต้องนำเอกสารต้นฉบับใส่ไปที่เครื่องแล้วเรียกติดต่อส่งไปยังปลายทาง ทางด้านเครื่องปลายทางจะได้รับเอกสารที่สมบูรณ์เหมือนคนต้นฉบับโดยใช้กระดาษแบบความร้อน (thermal paper) หรือกระดาษธรรมดาซึ่งไม่ต้องนำไปล้าง-อัด ดังเช่น โทรภาพ จึงควรเรียกว่า โทรสาร

          ภายหลังในทางสากลมีการเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ photograph facsimile telegraphy = phototelegraphy และ document facsimile telegraphy = facsimile

          คำ ๒ คำมีความหมายและใช้งานต่างกัน ในภาษาไทยจึงควรแยกเรียกตามประเภทว่า โทรภาพ และ โทรสาร ตามความต่างกันนั้น

          ผู้ควบคุมคอลัมน์ซึ่งใช้นามปากกาว่า สายสะพาย ได้แสดงความหวังไว้ว่า ทางราชบัณฑิตยสถานคงจะเห็นด้วยกับเหตุผลนี้ และรับโทรสาร ไว้ในบัญชีศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน จากข้อมูลนี้คณะกรรมการบัญญัติศัพท์วิทยาศาสตร์ได้นำคำ facsimile มาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง แล้วมีความเห็นสรุปได้ว่า ระบบการส่งเอกสารข้อมูลโดยทาง fax ผู้ส่งทางต้นทางก็จะส่งข้อมูลไปยังผู้รับปลายทางซึ่งจะรับข้อมูลในลักษณะที่เป็น “ภาพ” เหมือนต้นฉบับ เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะโดยเครื่องแบบเก่าหรือแบบที่พัฒนาขึ้นใหม่ ส่วนที่ว่าจะได้ “ข้อมูล” โดยต้องใช้ฟิล์มและนำไปอัด-ล้าง หรือจะใช้กระดาษความร้อนหรือกระดาษธรรมดานั้นเป็นเรื่องของรายละเอียดทางกรรมวิธีจึงยังเห็นว่าคำ โทรภาพ ให้ความหมายที่ถูกต้องและกว้างกว่า โทรสาร แต่เหตุที่ไม่นิยมใช้ โทรภาพ คงจะเป็นเพราะเข้าใจผิดไปว่า ภาพ คือ “รูป (คน สัตว์ สิ่งของ ฯลฯ) หรือครั้งหนึ่งเคยมีผู้ใช้เรียกเครื่องรับโทรทัศน์ว่า เครื่องโทรภาพ

          อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ มีหน้าที่คิดคำที่ถูกต้องขึ้น อธิบายความหมายและเผยแพร่คำที่คิดขึ้นเท่านั้น ประชาชนจะยอมใช้หรือเลือกใช้อย่างใดก็ได้ เพราะหากคำ โทรสาร แพร่หลายจนถึงขนาด “ติด” ในภาษาแล้ว คำ โทรสาร ก็จัดอยู่ในประเภท คำเพี้ยนที่ใช้ได้อีกคำหนึ่งเช่นเดียวกับคำ อัตโนมัติ (=มีความคิดของตนเอง) ซึ่งประชาชนนิยมใช้มากกว่าคำ อัตโนวัติ (=เป็นไปด้วยตนเอง) ที่เป็นศัพท์บัญญัติของคำ automatic ทั้งที่เป็นคำที่ถูกต้องมากกว่า อัตโนมัติ

          ในที่สุด คณะกรรมการฯ เห็นว่า โทรสาร ก็น่าจะถือเป็นคำเพี้ยนที่ใช้ได้ เช่นเดียวกัน และให้เก็บคำ โทรภาพ โทรสาร เป็นศัพท์บัญญัติของ facsimile หรือ fax ไว้ทั้ง ๒ คำ.

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๒

อ่าน facimile โทรภาพ หรือ โทรสาร เพิ่มเติม