โรคหืด

          ย้อนอดีตไปเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อนนี้ องค์การอนามัยโลกได้รายงานว่าคนที่ป่วยด้วยโรคหืดมีจำนวนไม่มาก แต่เมื่อถึงวันนี้ทั่วโลกมีคนป่วยเป็นหืดประมาณ ๑๕๐ ล้านคน และทุกปีจะมีผู้เสียชีวิต ๑๘๐๐๐๐ คน สถิติการสำรวจยังแสดงให้เห็นอีกว่า คนที่มีอายุเกิน ๖๕ ปี และเด็กอายุ ๙-๑๔ ปี มีโอกาสเป็นโรคหืดมากที่สุด ส่วนเด็กที่อ้วนก็มักป่วยด้วยโรคหืด และผู้คนในโลกตะวันตกที่เจริญแล้วก็มักป่วยด้วยโรคหืดมากกว่าคนแอฟริกาที่ด้อยการพัฒนา

          คำว่า โรคหืด ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า asthma คนที่เป็นโรคชนิดนี้รู้ดีว่า เมื่อโรคกำเริบ เขาจะมีอาการหอบเหนื่อย หายใจติดขัดหรือลำบาก ไอบ่อยตอนกลางคืน มีไข้ เจ็บหน้าอก มือเกร็ง บางคนอาจชัก ซึ่งถ้ารักษาไม่ทันก็จะตาย แต่พออาการบรรเทาผู้ป่วยก็จะหายหอบเอง โรคชนิดนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกวัย และอาการมักสำแดงในฤดูฝนหรือฤดูหนาว โดยเฉพาะในเวลากลางคืน หรือเวลาร่างกายสัมผัสสิ่งที่แพ้ เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ควันบุหรี่ ควันธูป ขนสัตว์ สารเคมี ozone หรือ nitrogen dioxide หรือยา เช่น aspirin ทำให้ร่างกายเกิดอาการแพ้ที่หลอดลม คือหลอดลมจะตีบลง ทำให้หายใจเข้า-ออกไม่สะดวก อาการตีบตันอย่างรุนแรง ทำให้ระบบการหายใจติดขัด ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีและทันเวลาผู้ป่วยก็อาจเสียชีวิตได้ แต่ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกวิธีเขาก็อาจเป็น ๆ หาย ๆ แพทย์ยังสำรวจพบอีกว่า คนที่เครียดมาก ๆ ความเครียดก็อาจกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ และคนหลายคนก็อาจล้มป่วยทันทีถ้าถูกขัดใจ

          N. Clark แห่ง Institute of Medicine ในสหรัฐอเมริกา ได้เคยรายงานว่า ราที่มีในบ้านที่ชื้นสามารถทำให้เด็กป่วยเป็นโรคหืดได้ เพราะความชื้นจะทำให้จุลินทรีย์และไรที่แอบแฝงอยู่ในบ้านที่ชื้นเจริญเติบโตดี และเมื่อเด็กเล็ก ๆ หายใจเอาราและจุลินทรีย์เข้าร่างกาย ระบบการหายใจของเด็กก็จะถูกรบกวนจนเด็กล้มป่วยเป็นโรคหืด และนี่ก็คือเหตุผลที่ Clark คิดว่าสามารถตอบคำถามว่า เหตุใดเด็กในครอบครัวที่ยากจนที่อยู่ในบ้านชื้น ๆ จึงเป็นโรคหืดมากกว่าเด็กในครอบครัวที่ร่ำรวยซึ่งอยู่ในบ้านที่ถูกสุขลักษณะ

          การสำรวจทางด้านระบาดวิทยายังแสดงให้เห็นอีกว่า กรรมพันธุ์ก็มีส่วนทำให้คนเป็นโรคหืด เพราะคนที่มีพ่อแม่ป่วยด้วยโรคนี้ ก็มักเป็นตามผู้บังเกิดเกล้าของตนด้วย และแม่ขณะตั้งครรภ์ ถ้าสูบบุหรี่จัด ลูกที่คลอดจะมีโอกาสเป็นโรคหืดสูง ถึงกระนั้นแพทย์ก็เชื่อมั่นว่า สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลในการทำให้คนเป็นโรคหืดสูงยิ่งกว่ากรรมพันธุ์ แต่ก็ไม่ประจักษ์ชัดว่า สิ่งแวดล้อมใดบ้างสามารถทำให้คนเป็นโรคหืดได้ เพราะได้มีการพบว่า ในกรณีบ้านที่สะอาดมาก เด็กจะขาดภูมิคุ้มกันโรคหืด ดังนั้น เด็กจะมีโอกาสสูงในการเป็นโรคหืดยามออกไปเล่นนอกบ้าน แต่ถ้าบ้านสกปรก ชื้น สภาพที่ผิดสุขลักษณะของบ้าน ก็สามารถทำให้เด็กเป็นโรคหืดได้เช่นกัน ดังนั้น ปัญหาจึงมีว่า บ้านควรสกปรกเพียงใดจึงจะพอดี และสะอาดแค่ไหนจึงจะปลอดภัย

          ในที่ประชุม European Respiratory Congress ที่กรุง Vienna ประเทศออสเตรีย เมื่อเดือนกันยายนปีกลายนี้ C.C. Johnson แห่ง Henry Ford Hospital ที่เมือง Detroit ในสหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่าเขาได้สอบถามบิดามารดาของเด็กอายุ ๑-๓ ขวบ จำนวน ๔๔๘ คน ทางโทรศัพท์เกี่ยวกับสุขภาพของลูกตน และเมื่อเด็กกลุ่มเดียวกันนี้มีอายุได้ ๒-๔ ขวบ เขาได้ทดลองเอาฝุ่นและอากาศที่บ้านเด็กทุกคนมาวิเคราะห์ว่ามีองค์ประกอบใด ๆ บ้าง นอกจากนั้นเขายังได้ถามบิดามารดาของเด็กทุกคนอีกว่า เด็กเคยได้รับยาปฏิชีวนะและยา penicillin หรือไม่ และเมื่อเด็กมีอายุ ๗ ขวบ เขาได้นำเด็กทั้ง ๔๔๘ คนมาตรวจสุขภาพหาอาการของโรคหืด และก็ได้พบว่าร้อยละ ๕๐ ของเด็กที่เคยได้รับยาปฏิชีวนะก่อนอายุ ๖ เดือนป่วยเป็นโรคหืด และถ้าเด็กได้รับยาปฏิชีวนะยิ่งมากขนาดโอกาสการป่วยเป็นโรคหืดก็ยิ่งสูง Johnson จึงสรุปว่า ยาปฏิชีวนะสามารถรบกวนระบบภูมิคุ้มกันของทารกจนทำให้ทารกป่วยเป็นโรคหืดในเวลาต่อมาได้ และนั่นก็หมายความว่า เด็กฐานะดีในประเทศที่ร่ำรวย มีโอกาสป่วยเป็นโรคหืดมาก

          แต่งานวิจัยนี้ก็ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ถูกต้อง เพราะแพทย์หลายคนคิดว่า ยาปฏิชีวนะที่เด็กได้รับเป็นยาที่ใช้รักษาระบบทางเดินหายใจที่อักเสบ และระบบทางเดินหายใจที่บกพร่องนี้ทำให้เด็กเป็นโรคหืด  หาใช่ยาปฏิชีวนะทำให้เด็กเป็นโรคหืดไม่

          เมื่อสาเหตุการเป็นโรคหืดยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเช่นนี้ วิธีที่ดีในการป้องกันตนเองคือ ปิดปากและจมูกไม่หายใจเอามลพิษเข้าร่างกาย ลดการสูบบุหรี่ และออกกำลังกายพอสมควร และทันทีที่รู้สึกว่าโรคหืดจะกำเริบคือจังหวะการหายใจจะติดขัดก็ควรรีบไปหาหมอทันที

          และเพื่อเป็นการป้องกันล่วงหน้านาน ๆ คนที่เป็นโรคหืดควรพยายามสังเกตว่าตนแพ้อะไรบ้างแล้วก็พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น รักษาตนอย่าให้เป็นหวัด อย่าเครียด และควรรู้ว่าการใช้ยารักษา และการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง จะทำให้ร่างกายรู้สึกสบายปลอดจากการถูกโรคหืดรบกวนได้ และถ้าการเป็นโรคนี้เกิดกับเด็ก ๆ จะมีโอกาสหายขาดได้ แต่ถ้าผู้ใหญ่เป็นบ้าง การรักษาจะทำได้ยาก และถ้าอาการหอบหืดกำเริบรุนแรงคนคนนั้นอาจป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง อ้วน กระดูกพรุน ภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือช็อกด้วยก็ได้ อนึ่ง ในการรักษาด้านยานั้น แพทย์ระบุว่าคนป่วยไม่ควรกินยา aspirin และยาอื่น ๆ ที่แพทย์สั่งห้าม นอกจากนี้คนไข้ก็ไม่ควรเปลี่ยนหมอรักษาบ่อย เพราะจะทำให้การควบคุมดูแลไข้ทำได้ยาก นอกจากนิ้ แพทย์คิดว่าคนไข้ ๘ ใน ๑๐ คนจะไม่ตาย ถ้าได้รับการรักษาทันเวลา

          และสำหรับคนที่เป็นโรคหืดระดับไม่รุนแรง ขณะออกกำลังกายถ้ามีอาการโรคหืดกำเริบ แพทย์อาจให้ยา montelukast หรือยาฉีดพ่น salmeterol หรือยาอื่น ๆ ที่ใช้ขยายหลอดลม ซึ่งอาจเป็นยาฉีดพ่น แคปซูลหรือยาเม็ดที่ต้องกินกันเป็นเวลานานจึงจะเห็นผล และอาจมีผลกระทบข้างเคียงถ้าใช้มาก เช่น ทำให้เกิดปัญหาโรคหัวใจ และโรคสมอง

          ส่วนยา corticosteroid นั้น ถ้าใช้มากจะทำให้ถุงอากาศในปอดระคาย ยาชนิดนี้อาจทำให้คนไข้มีความดันเลือดสูง เป็นต้อ เบาหวาน น้ำหนักเพิ่ม และกระดูกพรุนได้ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้กับเด็ก

          สำหรับกรณีที่คนป่วยอยู่ไกลแพทย์ การดื่มน้ำมาก ๆ วันละ ๑๕-๒๐ แก้วจะช่วยให้เสมหะไม่เหนียว และขับออกง่าย เพราะถ้าเสมหะเหนียวคนไข้จะยิ่งหอบมาก และขณะรักษาตนเอง คนไข้ไม่ควรกินยาแก้ไอที่เป็นน้ำเชื่อม และไม่ควรกินยาแก้หวัด เพราะยาเหล่านี้จะทำให้เสมหะเหนียว และในกรณีเจ็บปวดมาก ก็ให้กิน paracetamol ทันที

          และในด้านการป้องกันการเป็นโรคหืดนั้น วิธีง่าย ๆ คือพยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่อย่าหักโหมจนเกินไป พยายามควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นและป้องกันตัวไม่ให้เป็นหวัดหรือเจ็บคอ พยายามบริหารปอดโดยการหายใจเข้า-ออกลึก ๆ โดยการเป่าลมออกทางปากทุกวัน ๆ ละ ๑-๒ ครั้ง ๆ ละ ๕-๑๐ นาที

          การคลายความเครียดโดยการทำสมาธิ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสก็ช่วยได้มาก อนึ่ง การว่ายน้ำก็เป็นวิธีออกกำลังกายที่ดีวิธีหนึ่งเพราะน้ำที่อุ่นช่วยในการหายใจ

          โดยสรุปเราจึงอาจกล่าวได้ว่า คนที่เป็นโรคหืดไม่ควรห่างแพทย์และทันทีที่รู้ว่าอาการกำลังจะมา แพทย์ก็จะให้ยาลดอักเสบพวก steroid และยาขยายหลอดลมเช่น salbutanol หรือ terbutaline ชนิดสูดพ่น และถ้าอาการรุนแรงแพทย์จะให้น้ำเกลือฉีดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้า ๆ แต่ยาแก้หืดเหล่านี้มักให้ผลข้างเคียง เช่น ทำให้มือสั่น ใจสั่น ดังนั้น ณ วันนี้คนที่เป็นโรคนี้จึงอาจต้องรักษากันเป็นปีหรือตลอดชีวิต โดยมียาช่วยได้บ้าง แต่ตัวเองก็ต้องช่วยตัวเองด้วย ชีวิตจึงจะมีคุณภาพ.

ผู้เขียน : ศ. ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิทยาศาสตร์