โอ้โลมปฏิโลม

         มีคำภาษาไทยอยู่คำหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจมาจากคำบาลีก็ได้ นั่นก็คือคำว่า “โอ้โลม” ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ก. ปลอบโยน เอาใจ.” โดยท่านเก็บเป็นลูกคำของ คำว่า “โอ้ ๑” นอกจากนั้นก็มีลูกคำอีกคำหนึ่ง คือ “โอ้โลมปฏิโลม” ท่านบอกว่าเป็นภาษาปาก และได้ให้ความหมายไว้ว่า “ก. พูดเอาอกเอาใจ.”

          ความจริงการโอ้โลม หรือการโอ้โลมปฏิโลมนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำก็ได้ อาจเป็นการแสดงออกทางกายก็ได้

          อย่างเวลาเด็กร้องไห้แสดงความเสียอกเสียใจ เพราะผิดหวัง เช่น สอบตก หรือ ถูกขัดใจ ไม่ได้สิ่งที่ตนต้องการ พ่อแม่หรือพี่เลี้ยงอาจต้องพูดโอ้โลม คือ ปลอบใจ ให้เด็กคนนั้นบรรเทาความเสียอกเสียใจลงบ้าง นับว่าเป็นการเอาอกเอาใจเด็กนั่นเอง บางทีก็ต้องปลอบใจว่าจะพาไปเที่ยวที่โน่นที่นี่หรือจะซื้อของเล่นให้ เป็นต้น

          ถ้าชายหนุ่มหญิงสาว หรืออาจจะไม่หนุ่มไม่สาวก็ได้ โอ้โลมปฏิโลมกัน ก็อาจหมายถึง พูดจาเกี้ยวพาราสีหรือแสดงความรักกันออกมาทางกาย ในทำนองเดียวกับ “เล้าโลม” หรือ “ประเล้าประโลม” ก็ได้

          คำว่า “โอ้โลม” ซึ่งเข้าคู่กับ “ปฏิโลม” นี้ น่าจะมาจากคำบาลีว่า “อนุโลม” ซึ่งตามรูปศัพท์แปลว่า “ตามขน” ตรงข้ามกับคำว่า “ปฏิโลม” ซึ่งแปลว่า “ทวนขน” หรือ “ย้อนขน” อย่างเราเอามือลูบแขนหรือขาจากข้างบนลงล่าง อย่างนี้เป็น “ตามขน” เรียกว่า “อนุโลม” แต่ถ้าหากลูบย้อนจากข้างล่างขึ้นมาข้างบนเป็น “ย้อนขน” เรียกว่า “ปฏิโลม” การโอ้โลมปฏิโลมแสดงความรักที่มีการสัมผัสทางกาย อาจลูบ ๆ คลำ ๆ กันบ้างนั้น จึงมีลักษณะที่เป็นทั้ง “อนุโลม” และ “ปฏิโลม” แล้วต่อมาคำว่า “อนุโลม” นี้อาจกลายเป็น “โอ้โลม” ไปก็ได้

          ผู้ที่เคยบรรพชาอุปสมบท คงจะจำได้ว่า เวลาเข้าไปขอบรรพชากับพระอุปัชฌาย์นั้น ท่านจะให้ว่ากรรมฐาน เรียกว่า “ตจปัญจกกรรมฐาน” (ตะ-จะ-ปัน-จะ-กะ-กำ-มะ-ถาน) มี ๕ อย่าง คือ เกสา (ผม) โลมา (ขน) นะขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตะโจ (หนัง) ถ้าว่าโดย “อนุโลม” คือว่าไปตามลำดับก็เป็นดังนี้ เกสา-โลมา-นะขา-ทันตา-ตะโจ แล้วท่านก็ให้ว่าย้อนลำดับเป็น “ปฏิโลม” ดังนี้ ตะโจ-ทันตา-นะขา-โลมา-เกสา ให้ว่ากลับไปกลับมา เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ เพราะถ้าจิตไม่เป็นสมาธิก็จะว่าสับลำดับกันไปหมด อย่างนี้ท่านเรียกว่า “ตจปัญจกรรมฐาน” ทั้ง “อนุโลม” และ “ปฏิโลม”

          คำว่า “อนุโลม” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ก. ใช้แทนกันได้ตามความเหมาะสม คล้อยตาม; (กฎ) ใช้ได้โดยอาศัยเทียบเคียง. ว. ตามลำดับ เช่น ท่องแบบอนุโลม คู่กับ ปฏิโลม คือ ย้อนลำดับ.”

          ที่ว่า “ใช้แทนกันได้ตามความเหมาะสม” นั้น เช่นในบทนิยามของคำว่า “กล้า” ที่เป็นนาม เดิมหมายถึง ต้นข้าวที่เขาเพาะไว้สำหรับย้ายไปปลูกที่อื่น แต่ “โดยอนุโลม เรียกพืชที่เพาะไว้สำหรับย้ายไปปลูกในที่อื่นว่า กล้า เช่น กล้าพริก กล้ามะเขือ” ด้วย.

ผู้เขียน : .จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๑๐๕-๑๐๗.