wind shear ลมเฉือน

          เมื่อเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินของสายการบินต้นทุนต่ำ หรือที่เรียกกันว่า โลว์คอสต์แอร์ไลน์ ลื่นไถลออกนอกทางวิ่งขณะลงจอด แล้วพุ่งชนไหล่เขา หักเป็น ๒ ส่วน เกิดไฟลุกไหม้ที่สนามบินจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่าอาจมีมาจากหลายสาเหตุ และสาเหตุหนึ่งในนั้นคือ เครื่องบินเผชิญกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า wind shear

          หลายคนสงสัยว่า wind shear คืออะไร เนื่องจากสื่อมวลชนหลายแขนงต่างพาเรียกทับศัพท์ว่า วินด์เชียร์ ไม่ได้ให้คำเป็นภาษาไทยไว้ ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์และจัดทำบทนิยามศัพท์ไว้หรือไม่อย่างไร คำถามนี้มีคำตอบดังต่อไปนี้

          ด้วยราชบัณฑิตยสถานมีหน้าที่หลักตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๔ ประการหนึ่ง คือ ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วิชาการภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยและงานวิชาการอื่น ๆ ดังนั้น ราชบัณฑิตยสถานโดยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ซึ่งมีศาสตราจารย์ไพฑูรย์ พงศะบุตร ราชบัณฑิต เป็นประธานกรรมการ ได้บัญญัติศัพท์และจัดทำบทนิยามศัพท์ wind shear และราชบัณฑิตยสถานได้จัดพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๔ (แก้ไขเพิ่มเติม) ดังนี้

          wind shear ลมเฉือน : การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงของทิศทางลม และ/หรืออัตราเร็วลมในระยะทางสั้น ๆ การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง หากเกิดขึ้นในเส้นทางบินโดยเฉพาะในระยะการร่อนขึ้นลงของเครื่องบินก็เป็นอันตรายต่อเครื่องบินอย่างมาก โดยทั่วไปแล้วจะเกิดพร้อมกับการปั่นป่วนของอากาศที่รุนแรง มักพบในบริเวณพายุฝนฟ้าคะนอง หรือพายุโซนร้อน เป็นต้น

สำรวย นักการเรียน