การแบ่งภูมิภาคทางภูมิศาสตร์

          การแบ่งภูมิภาคมีประโยชน์ช่วยให้สามารถเข้าใจถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นภายในกรอบของพื้นที่รวมทั้งหมด แต่การแบ่งภูมิภาคอาจทำให้เกิดความสับสนขึ้นได้เนื่องจากการแบ่งนั้นกระทำได้หลายวิธีแล้วแต่วัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ประโยชน์ และเกณฑ์ที่นำมาใช้ในการแบ่งก็จะแตกต่างกันสุดแต่ว่าจะเป็นวิธีการของหน่วยงานใดหรือนักวิชาการสาขาใด สำหรับงานจัดทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ของราชบัณฑิตยสถานยึดถือตามการแบ่งภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ของคณะกรรมการภูมิศาสตร์แห่งชาติภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ การแบ่งดังกล่าวนี้ ได้อาศัยเกณฑ์ในด้านลักษณะภูมิประเทศเป็นสำคัญ แต่ก็ได้นำลักษณะทางด้านภูมิอากาศ วัฒนธรรมด้านเชื้อชาติ ภาษา และความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นมาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ได้แบ่งประเทศไทยออกเป็น ๖ ภูมิภาค คือ
๑. ภาคเหนือ มี ๙ จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง ลำพูน และอุตรดิตถ์
๒. ภาคกลาง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร และอีก ๒๑ จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
๓. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี ๑๙ จังหวัด ได้แก่ หนองคาย นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
๔. ภาคตะวันออก มี ๗ จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
๕. ภาคตะวันตก มี ๕ จังหวัด ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
๖. ภาคใต้ มี ๑๔ จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต พัทลุง ตรัง ปัตตานี สงขลา สตูล นราธิวาส และยะลา
นอกจากการแบ่งภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ตามข้อเสนอของคณะกรรมการภูมิศาสตร์แห่งชาติแล้ว ยังมีหน่วยงานที่จัดแบ่งภูมิภาคของประเทศไทยที่สำคัญอีกหน่วยงานหนึ่งคือ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งได้แบ่งประเทศไทยออกเป็น ๖ ภาค และมีขอบเขตของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้เหมือนกับภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ แต่ขอบเขตของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกแตกต่างไปจากภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ ดังนี้
 –ภาคเหนือ มี ๑๗ จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง ลำพูน ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ และ อุทัยธานี
 –ภาคกลาง มี ๙ จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร
 –ภาคตะวันออก มี ๙ จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา
สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
 –ภาคตะวันตก มี ๘ จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร
สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

นางสาวนฤมล  บุญแต่ง
นักวรรณศิลป์ ๗ ว
กองธรรมศาสตร์และการเมือง