เอ็นจีโอ – สมาพันธ์

          ความคิดแบบไทยซึ่งยึดถือระบบราชการหรือมีรัฐบาลเป็นองค์การสำคัญ มักไม่ค่อยมีการไว้วางใจองค์กรใดก็ตามที่อยู่นอกรัฐบาลหรือนอกระบบราชการ ผลก็คือ เอ็นจีโอ จึงมักถูกระบายสีให้ดูน่าเกลียดน่าชัง เพราะถือว่าเป็นเรื่องของกลุ่มบุคคลที่เข้าไปยุ่งในเรื่องซึ่งไม่ใช่เรื่องของตน ในเรื่องซึ่งเป็นกิจของราชการหรือภารกิจของรัฐบาลแท้ ๆ  แต่กลุ่มเอ็นจีโอก้าวเข้าไปยุ่งได้ทุกเรื่อง แท้ที่จริงแล้วเอ็นจีโอก็เป็นส่วนหนึ่งขององค์การภาคประชาชน ซึ่งควรจะได้มีบทบาทในกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ความหมายที่แท้จริงกำหนดเป็นอย่างไร มีดังนี้

          คำว่า เอ็นจีโอ เป็นอักษรย่อภาษาอังกฤษ เขียนว่า NGO มาจากคำเต็มภาษาอังกฤษว่า Non–Governmental Organization คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ได้บัญญัติศัพท์ว่า องค์การนอกภาครัฐ หมายถึง องค์การที่อยู่นอกภาครัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่มุ่งแสวงหากำไร ทั้งนี้ โดยได้รับเงินอุดหนุนจากบุคคลบางกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน ในบางครั้งองค์การนอกภาครัฐยังทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมในสิ่งที่รัฐไม่อาจกระทำตามหน้าที่ได้เต็มที่ ปัจจุบันมีองค์การเอ็นจีโอในประเทศไทยกว่า ๕๐๐๐ องค์การ เช่น สหภาพทางเวชภัณฑ์และการค้ายา สภากาชาดไทย มูลนิธิชัยพัฒนา

          ส่วนคำว่า สมาพันธ์ ซึ่งเป็นคำมาจากคำภาษาบาลี  คือ สํ   สม (= พร้อม กลับ ดี) + อา (= ทั่ว) + พนฺธ (= ผูก มัด รัด เนื่องถึงกัน) ดังนั้น สมาพันธ์ จึงหมายความว่า การมารวมพร้อมกัน คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ได้นำคำสมาพันธรัฐมาใช้เป็นศัพท์บัญญัติของคำภาษาอังกฤษ confederation  หมายถึง รูปแบบการจัดตั้งรัฐแบบหนึ่ง โดยนำรัฐหลายรัฐมารวมกันเพื่อปฏิบัติภารกิจระดับประเทศอย่างจำกัดเท่าที่รัฐต่าง ๆ ยินยอม รัฐที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์ยังคงมีเอกลักษณ์ของตน และแยกเป็นอิสระได้ เช่น สหรัฐอเมริการะหว่าง ค.ศ. ๑๗๗๘–๑๗๘๑  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

จำเรียง  จันทรประภา