จุลภาค (comma) หรือ จุดลูกน้ำ

ชื่อเครื่องหมายวรรคตอน รูปดังนี้ ,

มีหลักเกณฑ์การใช้ดังต่อไปนี้

๑. ใช้แยกวลีหรืออนุประโยคเพื่อกันความเข้าใจสับสน

ตัวอย่าง

(๑)  ส่วน การประพันธ์เรื่องนี้, ที่ใดเป็นร้อยแก้วอยู่ในภาษาอังกฤษ ข้าพเจ้าก็ได้แต่งเป็นร้อยแก้ว, แท่ใดเป็นกาพย์กลอนก็แต่งเป็นกาพย์กลอน, เพื่อให้รูปคล้ายของเดิมมากที่สุดที่จะเป็นได้.

(สดุดีเด็ก ๆ เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป โรงพิมพ์ภักดีประดิษฐ พ.ศ. ๒๔๙๘ หน้า ค – ง)

๒. นายแดงที่เดินมากับนายดำ, เป็นกำนัน.

. ใช้คั่นคำในรายการ ที่เขียนต่อ ๆ กัน ตั้งแต่ ๓ รายการขึ้นไป โดยเขียนคั่นแต่ละรายการ ส่วนหน้าคำ “และ” หรือ “หรือ” ที่อยู่หน้ารายการสุดท้ายไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องหมายจุลภาค

ตัวอย่าง

(๑) สินค้าราคาคุม ได้แก่ ข้าวสาร, น้ำตาลทราย, น้ำมันพืช และผงซักฟอก.

(๒) โทษมี ๓ ประการ คือ ปรับ, จำ หรือ ทั้งปรับทั้งจำ.

ในกรณีที่ต้องการแยกกลุ่มให้เห็นชัด อาจใส่เครื่องหมายจุลภาคหน้าคำ “และ” หรือ “หรือ” ก็ได้

ตัวอย่าง

(๓) เช็คของบริษัทนี้จะสมบูรณ์เมื่อมีผู้ลงนาม ๓ คน คือ ก หรือ ข, ค หรือ ง, และ จ ลงนาม.

(๔) เช็คของบริษัทนี้จะสมบูรณ์เมื่อมีผู้ลงนาม ๓ คน คือ จ ก  ค, จ ก ง, หรือ จ ข ค, จ ข ง.

๓. ใช้ในการเขียนบรรณานุกรม ดรรชนี และนามานุกรม เป็นต้น

๓.๑ ใช้คั่นเมื่อมีการสับที่กันระหว่างนามสกุลกับชื่อ

ตัวอย่าง

๑. ปาสเตอร์, หลุยส์

๒. อัลคอตต์, ลุยซา เมย์

๓.๒ ใช้คั่นเมื่อมีการสับที่กันระหว่างชื่อ นามสกุล กับคำนำหน้านาม หรือยศ และระหว่างราชทินนาม กับบรรดาศักดิ์ ฐานันดรศักดิ์ หรือสมณศักดิ์ เป็นต้น

ตัวอย่าง

๑. แดง, นางสาว

๒. ถนัด คอมันตร์, พันเอก

๓. ญาณสังวร, สมเด็จพระ

๔. ธรรมโกศาจารย์, พระ

๕. นราธิปพงศ์ประพันธ์, พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่น

๖. พระคลัง (หน), เจ้าพระยา

๗. วิศาลศิลปกรรม, หลวง

๓.๓ ใช้คั่นเมื่อมีการสับที่กันระหว่างคำที่เป็นใจความหลักกับคำประกอบ

ตัวอย่าง

(๑) ประชาธิปไตย, ระบอบ

(๒) มหาธาตุ, วัด

(๓) ไทย, ประเทศ

๔. ใช้คั่นจำนวนเลขนับจากหลักหน่วยไปทีละ ๓ หลัก

ตัวอย่าง

(๑)       ๑,๐๐๐ อ่านว่า หนึ่งพัน

(๒)       ๑,๐๐๐,๐๐๐ อ่านว่า หนึ่งล้าน

(๓)        ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ อ่านว่า หนึ่งพันล้าน

(๔)       ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ อ่านว่า หนึ่งล้านล้าน

ที่มา : หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ ฯ หน้า ๕-๗.