ยัติภังค์ (hyphen)

        ชื่อเครื่องหมายวรรคตอน รูปดังนี้
        (อาจเขียนให้ยาวได้หลายขนาดตามความเหมาะสม แต่ไม่ควรเกิน ๒ ช่วงตัวอักษร)

        มีหลักเกณฑ์การใช้ดังต่อไปนี้

๑. ใช้เขียนไว้สุดบรรทัดเพื่อต่อพยางค์หรือคำสมาส ซึ่งจำเป็นต้องเขียนแยกบรรทัดกัน เนื่องจากเนื้อที่จำกัด

ตัวอย่าง

        คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย มีการประชุมทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องนันทนาการราชบัณฑิตย-
สถาน ราชบัณฑิตยสถาน
.

๒. ใช้เขียนแยกพยางค์เพื่อบอกคำเต็มที่จำเป็นต้องแยกตามฉันทลักษณ์

ตัวอย่าง

        (๑) ลูกเคยมุ่งภักดิณปะระมะธรร–       มาธิราชัน– ยะสามี
        (๒)       ดอยใดมีถ้ำราช–                    สีห์ประสงค์
              เหมืองมาบมีบัวหงส์                     หากใกล้
              ต้นไม้พุ่มพัวพง                            นกมาก มีนา
              สาวหนุ่มตามชู้ไซร้                       เพราะชู้ชอบตา

๓. ใช้แยกพยางค์เพื่อบอกคำอ่าน โดยเขียนไว้ระหว่างพยางค์แต่ละพยางค์

ตัวอย่าง

        (๑) เวลา อ่านว่า เว–ลา.
        (๒) ประกาศนียบัตร อ่านว่า ปฺระ–กา–สะ–นี–ยะ–บัด, ปฺระ–กาด–สะ–นี–ยะ–บัด.

๔. ใช้แสดงคำที่ละส่วนหน้าหรือส่วนท้ายหรือทั้งส่วนหน้าและส่วนท้ายของคำไว้

ตัวอย่าง

        (๑) –กระเฉง ใช้เข้าคู่กับคำ กระฉับ เป็น กระฉับกระเฉง.
        (๒) ทุติย– [ทุติยะ–] (แบบ) ว. ที่ ๒, มักใช้นำหน้าศัพท์อื่น เช่น ทุติยดิถี = วัน ๒ ค่ำ, ทุติยมาส = เดือนที่ ๒, ทุติยวาร = ครั้งที่ ๒, ทุติยสุรทิน = วันที่ ๒. (ป.).
        (๓) นาคาวโลก [–คาวะ–] อ่านว่า นา–คา–วะ–โลก.

๕. ใช้ในความหมายว่า “ถึง” เพื่อแสดงช่วงเวลา จำนวน สถานที่ ฯลฯ

ตัวอย่าง

        (๑) เวลา ๑๐.๓๐–๑๒.๐๐ น. [เว–ลา–สิบ–นา–ลิ–กา–สาม–สิบ–นา–ที–ถึง–สิบ–สอง–นา–ลิ–กา]
        (๒) ตั้งแต่วันจันทร์–วันเสาร์ [ตั้ง–แต่–วัน–จัน–ถึง–วัน–เสา]
        (๓) ประมาณ ๕๐๐–๖๐๐ คน [ปฺระ–มาน–ห้า–ร้อย–ถึง–หก–ร้อย–คน]
        (๔) เที่ยวบินจากกรุงเทพฯ–สุราษฎร์ธานี–ภูเก็ต [เที่ยว–บิน–จาก–กฺรุง–เทบ–ถึง–สุ–ราด–ทา–นี–ถึง–พู–เก็ด]

๖. ใช้เขียนแยกกลุ่มตัวเลขตามรหัสที่กำหนดไว้

ตัวอย่าง

        (๑) หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๕๓๑ ๓๒๓๔ [หฺมาย–เลข–โท–ระ–สับ สูน–สอง–ห้า–สาม–หฺนึ่ง สาม–สอง–สาม–สี่]
        () ISBN 974–8120–44–9

๗. ใช้กระจายอักษรเพื่อให้เห็นว่าคำนั้นประกอบด้วยพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์อะไรบ้าง

ตัวอย่าง

        (๑) ก–ร–ร–ม
        (๒) แ–ป–ล–ก
        (๓) เ–ห–ม– ื –อ–น
        (๔) ก–ล–า– ้
        (๕) ว– ั –น–น– ั–น– ้

ที่มา : หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ ฯ หน้า  ๑๔-๑๖