ก ไก่ หรือ ก. ไก่

คำนี้หลัง ก ไม่มีจุด เพราะไม่ได้เป็นอักษรย่อ (ผู้ตอบ : ดร.ชลธิชา สุดมุข)

การใช้คำว่า "ท่าน"

ท่านชาย เป็นคำเรียกราชนิกุลฝ่ายชายชั้นหม่อมเจ้า “ท่านหญิง” เป็นคำเรียกราชนิกุลฝ่ายหญิงชั้นหม่อมเจ้า ซึ่ง “ท่านชาย” และ “ท่านหญิง” ในที่นี้ถือเป็นคำ ๑ คำ คือคำว่า “ท่าน” มิได้ใช้เป็นคำนำหน้านาม และคำว่า “ท่าน” นั้นในภาษาเขียนและภาษาที่ใช้เป็นทางการก็มิได้มีกำหนดให้ใช้เป็นคำนำนาม แต่คำว่า “ท่าน” เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๒ เช่น “ท่านจะดื่มอะไรดีครับ” เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ เช่น “อาจารย์ท่านไม่อยู่” หรือเป็นคำประกอบหน้าชื่อบรรดาหรือตำแหน่งเพื่อแสดงความเคารพ เช่น ท่านขุน ท่านประธานองคมนตรี ท่านเจ้าอาวาส ดังนั้นหากจะใช้ว่า ท่านรัฐมนตรี ก็อยู่ในข่ายของการใช้คำประกอบหน้าชื่อตำแหน่ง มิได้ใช้ในฐานะที่เป็นคำสรรพนาม ส่วนที่มีการใช้คำว่า “ท่าน” นำหน้าชื่ออย่างที่ในวงการเมืองเรียกกันนั้น น่าจะใช้ในลักษณะเป็นคำประกอบหน้าชื่อเพื่อแสดงความยกย่องให้เกียรติ ซึ่งมิได้ถือเป็นภาษาที่มีใช้ในภาษาเขียนหรือเป็นภาษาทางการ แต่ถือเป็นภาษาปากที่ใช้ในเฉพาะวงการหรือเฉพาะกลุ่ม (ผู้ตอบ : สุปัญญา ชมจินดา)

การใช้ ดร.นำหน้าชื่อ

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ คำแสดงวุฒิการศึกษาไม่ใช้เป็นคำนำหน้านาม หรือนำหน้าชื่อ ทำนองเดียวกับคำแสดงวิชาชีพ เช่น นายแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ ฯลฯ จะมีใช้เป็นคำนำหน้านามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณได้ ก็คือ ตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ศาสตราจารย์กิตติคุณ คำว่า ดร. เป็นคำแสดงวุฒิการศึกษา ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ ไม่ใช้เป็นคำนำหน้านามตามแบบแผนของทางราชการ จึงไม่ใช้ ดร. เป็นคำนำหน้านามที่มีการใช้กันมักเป็นการใช้อยู่ในแวดวงวิชาชีพทางด้านการศึกษา ซึ่งหากเป็นหนังสือราชการแล้วไม่ใช้ ดร. เป็นคำนำหน้านามหรือนำหน้าชื่อ (ผู้ตอบ : สุปัญญา ชมจินดา)

ดร. คุณหญิง

มีคำถามว่าคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ได้รับปริญญาดุษฎี บัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบัญชี จากมหาวิทยาลัยรังสิต ดังนั้น ควรเรียกว่า ดร. คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา หรือ คุณหญิง ดร. จารุวรรณ เมณฑกา ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ตำแหน่งทางวิชาการ พ.ศ. ๒๕๓๖ ระบุให้ผู้มีตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนในระดับปริญญา ที่ยังคงดำรงตำแหน่ง มีสิทธิใช้ตำแหน่งทางวิชาการเป็นคำนำนาม เช่น ศ. รศ. ผศ. แต่คำแสดงตำแหน่ง (เช่น รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ฯลฯ) คำแสดงวิชาชีพ (เช่น แพทย์ วิศวกร ทนาย ครูอาจารย์ ฯลฯ) คำแสดงคุณวุฒิการศึกษาชั้นปริญญาเอกไม่ได้กำหนดให้ใช้เป็นคำนำนามตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. ๒๕๒๖ ดังนั้นหากใช้คำนามให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ พ.ศ. ๒๕๒๖ ก็ใช้ว่า “คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา” แต่หากจะใช้เรียกเป็นภาษาปากไม่ทางการ โดยไม่คำนึงถึงระเบียบทางราชการ จะเรียกกันเป็นภาษาปากว่า ดร.คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ก็ได้ แต่ไม่ถือเป็นการใช้ในภาษาเขียนทางราชการ (ผู้ตอบ : สุปัญญา ชมจินดา)

การใช้ "ธ"

ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้บทนิยามของคำ “ธ” ว่า “ท่าน เธอ (เป็นสรรพนามบุรุษที่ 3)” ในภาษาสันสกฤตหมายถึง นามพระพรหม นามท้าวกุเวร ทรัพย์ (ผู้ตอบ : กระลำภักษ์ แพรกทอง)

การใช้ไปยาลน้อย ท้ายคำว่า กรุงเทพ

คำว่า “กรุงเทพฯ” เป็นชื่อย่อจาก “กรุงเทพมหานคร” ใช้อักษรย่อว่า กทม. แต่ถ้าเขียนชื่อเขตการปกครองที่หมายถึง กรุงเทพมหานครจะต้องเขียนว่า “กรุงเทพฯ” ต้องมีไปยาลน้อยด้วยเสมอจึงจะถูกต้องตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด การเขียนกรุงเทพโดยไม่ใส่ไปยาล เช่นที่นำไปใช้เป็นชื่อองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ธ.กรุงเทพ จำกัด ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯลฯ ถือเป็นวิสามานยนามหรือชื่อเฉพาะ ก็อาจไม่จำเป็นต้องใส่ไปยาลน้อยได้ (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

การใช้ลักษณนาม "ราย" "นาย" "คน"

คำว่า “ราย” เป็นลักษณนามใช้แก่เรื่อง ส่วน บุคคล หรือสิ่งที่แยกกล่าวเป็นอย่าง ๆ ไป เช่น เกิดอุบัติเหตุ ๓ ราย มีลูกหนี้ ๒ ราย คำว่า “นาย” เป็นลักษณนามใช้แก่บุคคล (มักใช้แก่ทหาร ตำรวจ) เช่น หน่วยนี้มีทหาร ๕ ๐๐๐ นาย คำว่า “คน” เป็นลักษณนามใช้แก่มนุษย์ เช่น วันนี้มีพนักงานลาหยุด ๑๐ คน (ผู้ตอบ : ดร.ชลธิชา สุดมุข)

ขริบ-ขลิบ ใช้ต่างกันอย่างไร

มีหลักง่าย ๆ ว่า ถ้าหมายถึงการตัดเล็มใช้ ขริบ แต่ถ้าหมายถึงเย็บหุ้มริมผ้าหรือการนำบางสิ่งมาตกแต่ง ใช้ ขลิบ เช่น ผ้าขลิบทอง (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

ความแตกต่างระหว่าง "..." กับ '...'

เครื่องหมาย “….” เรียกว่า อัญประกาศคู่ ส่วนเครื่องหมาย ‘…..’ เรียกว่า อัญประกาศเดี่ยว หนังสือหลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ ฯลฯ ของราชบัณฑิตยสถาน กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ไว้ดังนี้ อัญประกาศคู่ 1. ใช้เพื่อแสดงว่าคำหรือข้อความนั้นเป็นคำพูด บทสนทนา หรือความนึกคิด 2. ใช้เพื่อแสดงว่าคำหรือข้อความนั้นคัดมาจากที่อื่น 3. ใช้เพื่อเน้นความให้ชัดเจนขึ้น 4. ใช้เพื่อเน้นคำหรือข้อความเพื่อให้รู้ว่าคำหรือข้อความนั้นเป็นสำนวนหรือภาษาปาก ซึ่งมีความหมายผิดไปจากความหมายปรกติ 5. ถ้าข้อความในเครื่องหมายอัญประกาศมีความยาวหลายย่อหน้า ให้ใส่เครื่องหมายอัญประกาศเปิดไว้ข้างหน้าแต่ละย่อหน้า ส่วนเครื่องหมายอัญประกาศปิดให้ใส่ไว้เฉพาะท้ายย่อหน้าสุดท้ายเท่านั้น ส่วน อัญประกาศเดี่ยว ใช้แทนเครื่องหมายอัญประกาศคู่ในข้อความที่มีการใช้เครื่องหมายอัญประกาศคู่อยู่แล้ว (ผู้ตอบ : ดร.ชลธิชา สุดมุข)

คำที่แสดงจำนวน ควรเขียนเป็นตัวเลขหรือตัวอักษร

ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดตายตัวว่าเมื่อใดควรเขียนเป็นตัวเลขหรือตัวอักษร ขึ้นอยู่กับแต่ละวงการและผู้เขียนแต่ละคนนิยมใช้อย่างไร เช่น ทางกฎหมาย มักใช้ตัวหนังสือ วงการธุรกิจอาจเขียนตัวเลข แล้วมีตัวหนังสือกำกับ แต่ในการจัดทำคำอธิบายหรือตรวจบรรณาธิกรบทความของราชบัณฑิตยสถาน โดยทั่วไปถ้ามีลักษณนามตามท้ายมักใช้ตัวเลข เช่น ไก่ ๒ ตัว ถ้าเขียนจำนวนตามหลังลำดับที่หรือคำที่แสดงลำดับที่ก็ใช้ตัวเลข เช่น กฎข้อที่ ๑ แต่ถ้าบอกว่า ทั้งสอง เราสอง … โดยไม่มีลักษณนามตามท้ายก็จะใช้ตัวหนังสือ ที่สำคัญคือ ถ้ากำหนดว่าจะใช้แบบใดก็ต้องใช้ให้เหมือนกัน (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

คำว่า "คำสมาส" ภาษาอังกฤษใช้คำไหน เพราะเปิดพจนานุกรมแล้ว มีหลายคำมาก เช่น a compound word combination of word combining of word an abridgement

คำภาษาอังกฤษที่ยกมาทั้งหมดไม่ใช่ technical term ของ “คำสมาส” แต่เป็นคำที่บอกถึงวิธีการเข้าสมาส คือ การรวมคำ ๒ คำเข้าด้วยกันและลดเสียงสระของคำที่เนื่องกันลงกึ่งหนึ่ง ในการสอนไวยากรณ์ภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษ เรียกคำที่ประกอบขึ้นจากการนำ ๒ คำมาต่อกันว่า “compound word” ซึ่งมีหลายแบบ และเรียกคำที่เกิดจากวิธีที่มีการลดรูปสระของคำแรกว่า Dependent Determinate Compounds (ผู้ตอบ : ดร.ชลธิชา สุดมุข)

โง่สับประทุน

ในอักขราภิธานศรับท์ ของ หมอปรัดเล อธิบายว่า สับปะทุน หมายถึง คนโง่ และในสัพะ พะจะนะ พาสาไท ของปาเลกัว เก็บไว้ว่า สัปะตุ่น แปลว่า โง่เง่า ดังนั้นคำว่า “โง่สับปะทุน” จึงเป็นการใช้คำที่มีความหมายเหมือนกัน ย้ำให้ชัดเจนขึ้น ว่าหมายถึง คนโง่ (ผู้ตอบ : กระลำภักษ์ แพรกทอง)

เช็ค กับ เช็ก แตกต่างกันอย่างไร

เช็ค เป็นคำทับศัพท์ของ cheque เช่น เช็คธนาคาร ส่วน เช็ก เป็นคำทับศัพท์ของ ckeck หรือแปลเป็นไทยว่า ตรวจสอบ (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

ชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร

“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” พิมพ์ กรุงเทพ ที่ช่องค้นหาข้อมูล อ่านความหมาย/คำแปลเพิ่มเติม (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

ดรรชนี กับ ดัชนี ใช้ต่างกันหรือไม่

ดรรชนี มาจากภาษาสันสกฤตว่า ตรฺชนี ดัชนี มาจากภาษาบาลีว่า ตชฺชนี ในทั้ง ๒ ภาษาแปลว่า นิ้วชี้ แต่ในพจนานุกรม คำว่า ดัชนี และ ดรรชนี มีความหมายเหมือนกัน สามารถเลือกใช้คำใดคำหนึ่งแทนกันได้ ไม่ว่าจะหมายถึงนิ้วชี้ หรือบัญชีคำเรียงตามลำดับอักษรที่พิมพ์ไว้ส่วนท้ายของหนังสือเล่ม หรือที่ใช้ในทางคณิตศาสตร์ (ผู้ตอบ : สำรวย นักการเรียน, กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร)

"แต่งตั้ง" กับ "ตั้ง" มีหลักเกณฑ์การใช้ที่แตกต่างกันอย่างไร

คำว่า “แต่งตั้ง” หมายความว่า ยกย่องขึ้น ชุบเลี้ยงให้มียศ ให้ตำแหน่ง เช่น แต่งตั้งข้าราชการให้มีตำแหน่งสูงขึ้น ส่วนคำว่า “แต่ง” มีหลายความหมาย คือ ๑. จัดให้งาม เช่น แต่งร้าน แต่งบ้าน ๒. ทำให้ดี เช่น แต่งต้นไม้ แต่งผม ๓. จัดตั้ง เช่น แต่งทนาย แต่งราชทูต ๔. จัดของ เช่น แต่งเครื่องบรรณาการ แต่งทัพ ๕. เรียบเรียงให้เป็นเรื่องราว เช่น แต่งหนังสือ แต่งโคลงกลอน ๖. คิดทำขึ้นเอง เช่น แต่งเรื่อง ๗. ครอง เช่น แต่งเมือง ว่า ครองเมือง. (ผู้ตอบ : ดร.ชลธิชา สุดมุข)

นันทนาการ-สันทนาการ

คำ “นันทนาการ” มีปรากฎในหนังสือประมวลศัพท์บัญญัติวิชาการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ เดิมคณะกรรมการพิจารณาศัพท์วิชาการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ ได้บัญญัติศัพท์คำว่า “สันทนาการ” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “recreation” เมื่อมีประกาศคณะรัฐมนตรีให้ราชบัณฑิตยสถานตั้ง”คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทย” ขึ้น มีหน้าที่บัญญัติศัพท์ภาษาไทยขึ้นใช้และพิจารณาให้ความเห็นชอบศัพท์ที่หน่วยงานอื่น ๆ จัดทำขึ้น ศัพท์ที่กระทรวงศึกษาจัดทำไว้แล้วจึงต้องส่งมาให้ราชบัณฑิตยสถานรับรอง คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยมีความเห็นว่า คำ”สันทนาการ” เกิดจากการนำคำว่า “สันทะ” ซึ่ง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “รถ รถศึก” ดังนั้นคำว่า “สันทนาการ” ก็จะแปลว่า “อาการของรถศึก” หรือถ้ามาจากคำ “สันทน” ซึ่งแปลว่า “หลั่งไหล” คำนี้ก็จะแปลว่า”อาการที่หลั่งไหล” ซึ่งจะไม่ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Recreation” ดังนั้น คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยจึงเห็นควรให้บัญญัติศัพท์ใหม่ซึ่งคล้ายกับศัพท์เดิมเป็น “นันทนาการ” มาจากคำว่า “นันทน” แปลว่า “ความเพลิดเพลิน ความยินดี” คำว่า “นันทนาการ” จึงแปลว่า “อาการแห่งความเพลิดเพลิน” หรือ “อาการแห่งความยินดี” ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “recreation” มากกว่าคำ”สันทนาการ” (ผู้ตอบ : ดร.ชลธิชา สุดมุข)

คำว่า "นานา" ทำไมไม่เขียนเป็น "นาๆ"

สาเหตุที่ไม่เขียน”นานา” ว่า “นา ๆ” นั้น เพราะคำนี้มาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า นานา ไม่ได้เป็นคำไทยแท้ (ผู้ตอบ : สำรวย นักการเรียน)

ปั้นสิบ ปั้นขลิบ หรือ ปั้นขริบ

(จากพจนานุกรม) ปั้นสิบ น. ของกินอย่างหนึ่ง ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า ใช้แป้งห่อไส้แล้วม้วนบิดริมแป้งตรงที่ประกบกันให้เป็นลายเกลียว นึ่งหรือทอด แป้งสิบ ก็เรียก.

โปรด-กรุณา

คำว่า “โปรด” และ “กรุณา” มีความหมายและการใช้เหมือนกันในความหมายที่หมายถึง “ใช้ประกอบหน้ากริยาแสดงความขอร้องอย่างสุภาพ” ตัวอย่างเช่น กรุณาส่ง หรือ โปรดส่ง กรุณานั่งนิ่ง ๆ หรือ โปรดนั่งนิ่ง ๆ (ผู้ตอบ : กระลำภักษ์ แพรกทอง)

คำ "ผลผลิต" และ "ผลิตผล" ใช้คำภาษาอังกฤษอย่างไร และความหมายแตกต่างกันอย่างไร

“ผลผลิต” เป็นศัพท์บัญญัติของคำ output หมายถึง สิ่งที่ได้จากการนำปัจจัยการผลิตผ่านกระบวนการผลิตได้เป็นสินค้าหรือบริการออกมา ซึ่งผลผลิตที่ได้นั้นอาจนำไปผลิตสินค้าอื่น ๆ ต่อไป หรือเป็นอาจเป็นผลผลิตขั้นสุดท้ายก็ได้ ส่วนคำ “ผลิตผล” นั้นมีเก็บไว้ที่คำ produce ซึ่งใช้ศัพท์บัญญัติว่า ผลิตผลทางการเกษตร พืชผล (ผู้ตอบ : จินดารัตน์ โพธิ์นอก)

"พิเรน" หรือ "พิเรนทร์"

พิเรนทร์ [พิเรน] ว. อุตรินอกลู่นอกทาง เช่น เล่นพิเรนทร์ คนพิเรนทร์ (ผู้ตอบ : สำรวย นักการเรียน)

ไฟ เป็นคำไทยหรือทับศัพท์

คำว่า “ไฟ” เป็นคำภาษาไทย แต่เป็นความบังเอิญของภาษาที่ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีคำที่ออกเสียงคล้ายกันและแปลเหมือนกัน (ที่บอกว่าออกเสียงคล้ายกัน เพราะในภาษาอังกฤษ คำ”fire” ไม่ได้ออกเสียงว่า “ไฟ” แต่ออกเสียงว่า “ไฟเออร์” เขียนทับศัพท์ตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถานเป็น “ไฟร์” ) นอกจากคำว่า “ไฟ” แล้ว ยังมีคำว่า “ริม” ในภาษาไทย และคำว่า “rim” ในภาษาอังกฤษที่ออกเสียงเหมือนกันและแปลเหมือนกันอีกด้วย ความบังเอิญในภาษาเช่นนี้ยังพบได้ในอีกหลายภาษา (ผู้ตอบ : ดร.ชลธิชา สุดมุข)

ภควตัณหา หรือ ภวตัณหา

เท่าที่ทราบ คำ ภควตัณหา ไม่มีใช้ มีแต่ ภวตัณหา แปลว่า ตัณหาเป็นไปในภพ คือ ความอยากมี ความอยากเป็น ความอยากเกิด คู่กับ วิภวตัณหา คือ ความปรารถนาในความไม่มีไม่เป็น (ผู้ตอบ : ปิยะพงษ์ โพธิ์เย็น)

มัน หรือ มันส์ เกม หรือ เกมส์

มัน มีความหมายหนึ่งว่า เพลิน ถูกอกถูกใจ ออกรสออกชาติ เช่น เกาเสียมัน คำว่า มันส์ ที่เขียนกันนั้น ไม่ใช่ภาษาที่ถูกต้องเป็นทางการ แต่เป็นภาษาที่ถูกใจเฉพาะกลุ่ม ส่วน เกม มีความหมายว่า การแข่งขันที่มีกติกากำหนด เช่น เกมกีฬา การเล่นเพื่อความสนุก เช่น เกมคอมพิวเตอร์ … คำว่า เกม เป็นการรับคำต่างประเทศมาใช้นานแล้วจนถือเป็นคำไทย จึงมีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน และให้ใช้ตามนั้น แต่กรณีที่เป็นการทับศํพท์ทั้งคำ เช่น เอเชียนเกมส์ ถือเป็นชื่อเฉพาะ เป็นการถอดรูปศัพท์อังกฤษเป็นไทยทั้งศัพท์ ให้ถอดเรียงตัวตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ ถ้าในภาษาอังกฤษมี s ภาษาไทยก็มี ส์ ได้ (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

มุกตลก หรือ มุขตลก

มุกตลก (พิมพ์คำว่า มุกตลก ที่ช่องค้นหาข้อมูลเพื่ออ่านบทความเรื่องนี้)

ความหมายของคำว่า เมาเหมือนหมา

คำว่า “เมาเหมือนหมา” เป็นความเปรียบ ใช้เปรียบท่าทางหรือพฤติกรรมของคนที่เมาเหล้า ตอนที่ยังไม่เมาคนเราก็จะเดินโดยใช้ ๒ เท้าเป็นปรกติ แต่พอเมามาก ๆ เข้า ทรงตัวยืนด้วย ๒ เท้าตามปรกติไม่ได้ ต้องใช้อีก ๒ มือช่วย กลายเป็นคลานด้วย ๔ เท้า คือ ๒ เท้ากับอีก ๒ มือ คล้ายหมาที่เดิน ๔ เท้า นอกจากนี้เมื่อเดินไปไหนไม่ไหวยังนอนไม่เลือกที่เหมือนหมาที่นอนตามที่ทั่ว ๆ ไปแม้แต่ข้างถนน (ผู้ตอบ : ดร.ชลธิชา สุดมุข)

ยวนย่าเหล หรือ ญวนย่าเหล

จากหนังสือของกรมศิลปากร ชื่อ รำวง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ เขียนว่า ยวนยาเหล (ผู้ตอบ : ชวนพิศ เชาวน์สกุล)

ราด ลาด

ให้พิมพ์คำว่า ราด ที่ช่องค้นหาข้อมูลหน้าเว็บ มีเรื่องนี้ให้อ่าน (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

เลขานุการ-เลขาธิการ ใช้ต่างกันอย่างไร

จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เลขานุการ น. ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับหนังสือหรืออื่น ๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง. เลขาธิการ น. ผู้ดํารงตําแหน่งบริหารระดับสูงตําแหน่งหนึ่ง เช่น เลขาธิการสหประชาชาติ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน เลขาธิการรัฐสภา เลขาธิการสมาคม. (ส. เลขาธิการี ว่า เสมียนของพระเจ้าแผ่นดิน). การใช้คำ ๒ คำนี้เลือกใช้ได้ตามหน้าที่ที่ทำ (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ศาสตราจารย์กิตติคุณ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ “ศาสตราจารย์กิตติคุณ” คือ ผู้เชี่ยวชาญที่สถาบันอุดมศึกษาแต่งตั้งจากบุคคลภายในหรือภายนอกมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญยิ่งในสาขาวิชา เป็นผู้นำและเป็นตัวอย่างที่ดีของนักวิชาการชั้นเยี่ยม มีมาตรฐานสูงทางคุณธรรม จริยธรรม และมีความซื่อตรงต่อวิชาชีพ ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น โดยมหาวิทยาลัยกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบและระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและเงินทุนต่าง ๆ เพื่อให้ปฏิบัติภารกิจที่เป็นงานทางวิชาการ ส่วนการใช้ชื่อ ?ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ศาสตราจารย์กิตติเมธี ศาสตราภิชาน? ขึ้นอยู่กับสถาบันที่แต่งตั้ง (ผู้ตอบ : สำรวย นักการเรียน)

สรรพนามที่ใช้ระหว่างเสนาบดีกับชาวบ้าน ควรใช้คำว่าอะไร

ถ้าเทียบเสนาบดีสมัยก่อนกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงในสมัยนี้ (ซึ่งในความเป็นจริงเสนาบดีสมัยก่อนยิ่งใหญ่มากกว่ารัฐมนตรีในสมัยนี้) ภาษาพูดที่ใช้กับรัฐมนตรี (สังเกตจากการใช้จริง) ชาวบ้านแทนตัวเองว่า ผม ดิฉัน (หญิงชาวบ้านที่สูงอายุใช้ว่า ฉัน ก็มี) และใช้สรรพนามบุรุษที่ ๒ เรียกรัฐมนตรีว่า “ท่าน” และเมื่อกล่าวถึงในฐานะบุรุษที่ ๓ ก็ยังคงใช้คำว่า “ท่าน” เช่น “วันนี้ท่าน (รัฐมนตรี) ไม่มานะครับ” แต่ถ้าจะศึกษาสรรพนามที่ใช้ระหว่างเสนาบดีกับชาวบ้านครั้งสมัยที่ยังมีเสนาบดีจะต้องสอบคืนจากพงศาวดารหรือจดหมายเหตุหรือบันทึกต่าง ๆ ซึ่งต้องศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ประกอบด้วย (ผู้ตอบ : สุปัญญา ชมจินดา)

คำว่า สารบัญ กับ สารบาญ มีความหมายเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

พจนานุกรมให้ความหมายเหมือนกัน แปลว่า บัญชีเรื่อง รายชื่อเรื่อง แต่เท่าที่เห็นส่วนใหญ่นิยมเขียน สารบัญ (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

สิทธิ สิทธิ์

๒ คำนี้ความหมายเหมือนกัน จากพจนานุกรม “สิทธิ สิทธิ์ [สิดทิ สิด] น. อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้. (ป. ส.); (กฎ) อํานาจที่จะกระทําการใด ๆ ได้อย่างอิสระ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย. (อ. right).” อยู่ที่การนำไปใช้ว่าจะให้อ่านอย่างไรจึงจะราบรื่นไพเราะ ถ้เขียน สิทธิ อ่านว่า สิดทิ แต่ถ้าเขียน สิทธิ์ อ่านว่า สิด (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

แสบสัน หรือ แสบสันต์

คำนี้ที่ถูก ต้องเขียนเป็น “แสบสัน” ส่วน สันต์ ใช้ในคำอื่น เช่น สุขสันต์ (ผู้ตอบ : ดร.ชลธิชา สุดมุข)

อุจจาระร่วง/ท้องร่วง

ศัพท์แพทยศาสตร์ของราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้ใช้ “อาการท้องร่วง” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “diarrhea” และในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายคำว่า “ท้องร่วง” ว่า “อาการที่ท้องเดินอย่างแรง” ซึ่ง “ท้องเดิน” คือ อาการที่ถ่ายอุจจาระเหลวมากบ่อย ๆ ดังนั้น คำที่ถูกต้องควรจะเป็น ” ท้องร่วง” (ผู้ตอบ : ดร.ชลธิชา สุดมุข)

หัวป่าก์ และ หัวป่า

ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เก็บเฉพาะคำว่า “หัวป่า” โดยให้บทนิยามว่า “น. คนทำอาหาร ในคำว่า แม่ครัวหัวป่า พ่อครัวหัวป่า โบราณเขียนเป็น หัวป่าก์.” (ผู้ตอบ : กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร)

"แก๊ส" หรือ "ก๊าซ"

ทั้ง “ก๊าซ” และ “แก๊ส” มีที่มาจากคำ gas เหมือนกัน แต่ “ก๊าซ” ใช้กันมานานกว่า เหตุที่ออกเสียงเช่นนั้นเพราะนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยก่อนมักได้รับการศึกษาจากประเทศเยอรมนี (ฟังจากผู้ใหญ่มาอย่างนั้น) คำนี้จึงออกเสียงแบบภาษาเยอรมัน ใช้กันมานานจนถือเป็นคำไทย ส่วน “แก๊ส” เป็นการถอดทับศัพท์ภาษาอังกฤษตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ ซึ่งประกาศใช้ภายหลัง อย่างไรก็ตามราชบัณฑิตยสถานได้เก็บไว้ในพจนานุกรมทั้ง ๒ คำ ใช้คำอธิบายเดียวกัน การตรวจแก้ไขบทความต่าง ๆ ของราชบัณฑิตยสถานหรือการบัญญัติศัพท์ที่มี gas ประกอบ โดยปรกติใช้ “แก๊ส” ทั้งหมด แต่ก็มีบางท่านเห็นว่า ในเมื่อใช้ได้ทั้ง ๒ คำก็ยังขอใช้คำเก่าอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำ natural gas ซึ่งนิยมใช้ว่า “ก๊าซธรรมชาติ” (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

"เทอร์มอมิเตอร์" หรือ "เทอร์โมมิเตอร์"

ตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ คำใดที่เก็บไว้ในพจนานุกรมมาแต่เดิมแล้วก็ให้ใช้ไปตามนั้น เทอร์โมมิเตอร์ จึงเป็นคำที่ถูกต้อง ใช้ได้ แต่พจนานุกรมมีคำอธิบายต่อท้ายว่า “… เทอร์มอมิเตอร์ ก็เรียก.” ซึ่งใช้ได้เช่นกัน คำหลังนี้เป็นการทับศัพท์ตามเสียงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

gasohol "แกโซฮอล" หรือ "แก๊สโซฮอล์"

ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่า “แกโซฮอล” โดยถอดทับศัพท์ตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ เหตุที่คำนี้เป็น “แก” แทนที่จะเป็น “แก๊ส” ก็เพราะในภาษาอังกฤษมี s ตัวเดียว หลักการถอดทับศัพท์นอกจากถอดเสียงแล้ว ตัวพยัญชนะควรสื่อกลับไปหาคำในภาษาเดิมได้ ส่วน -hol ออกเสียงว่า “ฮอน” จึงไม่มีการันต์ที่ ล ต่างจากคำ “แอลกอฮอล์” ซึ่งเป็นคำยกเว้น เพราะเป็นคำภาษาต่างประเทศที่ใช้กันมานาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจึงได้เก็บคำนี้ไว้ ส่วนหลักเกณฑ์การทับศัพท์ประกาศใช้ภายหลัง คำที่คล้าย ๆ กัน คือ gasoline ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่า “แกโซลีน” ยังมีคำทับศัพท์อีกหลายคำที่แม้จะถอดทับศัพท์ตามหลักเกณฑ์แต่ประชาชนไม่ยอมรับ ก็คงต้องนำมาทบทวนกันต่อไป (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

X-ray

หลักเกณฑ์การทับศัพท์ ตัว X ถอดทับศัพท์เป็น “เอกซ์” แต่คำ X-ray มีใช้ในภาษาไทยมานาน จนถือเป็นคำไทยไปแล้ว พจนานุกรมจึงเก็บไว้ตามรูปแบบที่ใช้กันว่า เอกซเรย์ (ไม่มีการันต์ที่ ซ อาจจะเป็นเพราะคนไทยออกเสียงตัว ซ เล็กน้อย) คำที่ถูกต้องให้ใช้ตามพจนานุกรม เพราะหลักเกณฑ์การทับศัพท์ระบุไว้ว่า คำใดที่เก็บไว้ในพจนานุกรมแล้วให้ใช้ไปตามนั้น (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

เจริญนคร, วงเวียนใหญ่

ถ.เจริญนคร Thanon Charoen Nakhon วงเวียนใหญ่ Wongwian Yai (ผู้ตอบ : กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร)

คำที่ออกเสียงว่า "ละ- ออ" จะเขียนเป็นภาษาอังกฤษอย่างไร

La-o (ผู้ตอบ : แสงจันทร์ แสนสุภา)

ชื่อสนามบิน "สุวรรณภูมิ" สะกดต่างจากหลักเกณฑ์การถอดศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน

ชื่อสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งชื่อภาษาอังกฤษนั้นใช้วิธีถอดอักษรโรมันตามหลักภาษาบาลี (ผู้ตอบ : ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน)

Jan Mayen Islands

ยานไมเอน เป็นเกาะของนอร์เวย์ (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

Svalbard

Svalbard = สฟาลบาร์ (ตัว d ท้ายคำ ไม่ออกเสียง) เป็นหมู่เกาะของประเทศนอร์เวย์ ในมหาสมุทรอาร์กติก (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

Jerusalem ใช้ว่า เยรูซาเลม หรือ เจรูซาเลม

เมืองเยรูซาเลม (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

Western Sahara

ดินแดนเวสเทิร์นสะฮารา (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

Pristina

เมืองพริชตีนา (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

Podgorica

เมืองพอดกอรีตซา (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

Kosovo

คอซอวอ (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

Okhotsk Sea Barents Sea

ล่าสุดคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลได้แก้ไขเป็น “โอค็อตสค์ แบเร็นตส์” ตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษารัสเซีย

Latin America and the Caribbean

ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (ผู้ตอบ : อิสริยา เลาหตีรานนท์)

Holy See

ฮอลีซี (ผู้ตอบ : อิสริยา เลาหตีรานนท์)

New Caledonia

นิวแคลิโดเนีย (ผู้ตอบ : อิสริยา เลาหตีรานนท์)

Polynesia

โปลินีเชีย (ผู้ตอบ : อิสริยา เลาหตีรานนท์)

Melanesia

เมลานีเซีย (ผู้ตอบ : อิสริยา เลาหตีรานนท์)

the Former Yugoslav Republic of Macedonia

สาธารณรัฐมาซิโดเนียอดีตยูโกสลาเวีย (ผู้ตอบ : ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน)

ชื่อประเทศ "ภูฏาน" อังกฤษว่า "Bhutan" อ่านเป็นไทยว่า พู-ถาน หรือ พู-ตาน

ชื่อประเทศ Bhutan ที่เขียนอย่างถูกต้องเป็นทางการคือ ภูฏาน ซึ่งอ่านว่า พู?ตาน การเขียนชื่อประเทศ Bhutan ดังกล่าว ที่ถูกต้องเป็นทางการให้ใช้ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และ ประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง (ฉบับแก้ไขปรับปรุง, พิมพ์ครั้งที่ ๒ : ๒๕๔๕) คือ Bhutan : Kingdom of Bhutan ภูฏาน : ราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งคำว่า ภูฏาน อ่านว่า พู?ตาน ทั้งนี้ การกำหนดให้ใช้ชื่อประเทศ Bhutan ว่า ภูฏาน มีมาตั้งแต่การจัดพิมพ์เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และ ประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง มหาสมุทร ทะเล และเกาะ ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ และได้จัดพิมพ์ซ้ำมาหลายครั้งจนถึงการพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๕๔๕ การกำหนดการเขียนชื่อประเทศ Bhutan ว่าจะใช้อย่างไรนั้น ราชบัณฑิตยสถานได้ยึดตามการถ่ายเสียงจากอักษรเทวนาครีที่ประเทศภูฏานใช้ ซึ่งการถ่ายเสียงจากอักษรเทวนาครีมาเป็นอักษรโรมัน เขียนได้ว่า Bhūtฺān [Bh = ภ, ū = ?ู , tฺ = ฏ, ā = ?า, n = น] แต่ในการพิมพ์มักไม่เคร่งครัดในการใช้เครื่องหมายพิเศษ (ผู้ตอบ : ศูนย์ประชาสัมพันธ์)

เหตุใดการทับศัพท์ชื่อเมืองที่เป็นภาษาสเปน ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (เรื่อง กำหนดชื่อประเทศฯ) บางเมืองจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาสเปนของราชบัณฑิตยสถาน

เช่น Michoacan -> มิโชอากัง (แทนที่จะเป็น มีโชอากัง) Veracruz -> เวรากรูซ (แทนที่จะเป็น เบรากรุซ) La Asuncion -> ลาซูนซีออง (แทนที่จะเป็น ลาซุนซีออง) Valencia -> วาเลนเซีย (แทนที่จะเป็น บาเลนเซีย) Puerto Ayacucho -> ปวยร์โตไออากูโช (แทนที่จะเป็น ปวยร์โตอายากูโช) เป็นต้น และอีกอย่างหนึ่งคือ ชื่อเมืองหลวงของประเทศเวเนซุเอลา (Caracas) ในส่วนชื่อประเทศและเมืองหลวง กำหนดให้ใช้ว่า “การากัส” แต่ในส่วนเขตการปกครองกลับให้ใช้ว่า “คารากัส” อยากทราบว่าแบบใดเป็นแบบที่ถูกต้อง >>> เหตุที่ประกาศสำนักนายกฯ บางเมืองยังไม่ตรงตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาสเปนเนื่องจากชื่อเมืองเหล่านั้นได้ประกาศใช้หลายครั้งก่อนที่ราชบัณฑิตยสถานจะจัดทำหลักเกณฑ์ภาษาต่าง ๆ จึงใช้ตามแบบเดิมได้โดยถือเป็นชื่อใช้ค้นจนเป็นที่รู้จัก ซึ่งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลแห่งราชบัณฑิตยสถานจะรับไว้พิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขเมื่อมีการตรวจสอบการออกเสียงอย่างแน่ชัดเพื่อจัดทำประกาศฉบับต่อไป (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

ราชบัณฑิตยสถานมีรายชื่อตำบล หมู่บ้าน ที่สะกดเป็นภาษาอังกฤษหรือไม่

กำลังทำรายชื่อตำบลอยู่ ยังไม่เผยแพร่ อยากทราบชื่อตำบลใดให้ถามมาเป็นคำ ๆ (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

เวนิส หรือ เวนิศ แต่ถ้าจะยึดหลักเกณฑ์การทับศัพท์ ce ให้ใช้ "ซ" ก็ควรจะเป็น เวนิซ สะกดแบบไหนถูกต้อง?

เวนิส (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

sub-Saharan Africa

sub-Subsahara ใช้ว่า กึ่งสะฮารา Africa ใช้ว่า แอฟริกา (ผู้ตอบ : อิสริยา เลาหตีรานนท์)

Democratic Yemen

Republic of Yamen : สาธารณรัฐเยเมน คำว่า Democratic Yemen ไม่มีใช้กันแล้ว (ผู้ตอบ : อิสริยา เลาหตีรานนท์)

Macao Special Administrative Region of China

Macao Special Administrative Region คือ เขตบริหารพิเศษมาเก๊า หรือ เรียกว่า มาเก๊า (Macao) ก็ได้ (ผู้ตอบ : ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน)

Timor-Leste

The Democratic Republic of Timor -Leste สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต (ผู้ตอบ : อิสริยา เลาหตีรานนท์)

Oceania

โอเชียเนีย (ผู้ตอบ : อิสริยา เลาหตีรานนท์)

Falkland Islands (Malvinas)

หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ หรือในภาษาสเปนว่า หมู่เกาะมาลบีนาส (ผู้ตอบ : ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน)

มลรัฐ กับ รัฐ ใช้ต่างกันอย่างไร

เหตุใดจึงใช้คำ ?มลรัฐ? ทั้งที่ประเทศอื่น ๆ ในปัจจุบันต่างก็ใช้คำว่า ?รัฐ? เกือบทั้งสิ้น คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลได้พิจารณาตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ แล้ว เห็นว่าคำดังกล่าวเป็นคำที่ราชบัณฑิตยสถานใช้กันมานาน ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเหตุผลความเป็นมาที่แน่ชัด จึงหารือไปยังคณะกรรมการชำระพจนานุกรม และคณะกรรมการจัดทำสารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ภูมิภาคอเมริกา แห่งราชบัณฑิตยสถาน และได้รับคำชี้แจงเหตุผลประกอบการพิจารณาว่า เห็นควรเลิกใช้คำ ?มลรัฐ? แล้วเปลี่ยนมาใช้คำ ?รัฐ? แทนเช่นเดียวกับประเทศ อื่น ๆ ที่มีการปกครองระบอบเดียวกันด้วยเหตุผลดังนี้ ๑. คำว่า state มีความหมาย ๒ ประการ คือ ประการแรกหมายถึง รัฐชาติ (nation state) ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบทั้ง ๔ ประการ คือ ดินแดน ประชากร รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย อีกนัยหนึ่งหมายถึงประเทศ ในความหมายที่ใช้กันโดยทั่วไป ส่วนประการที่ ๒ หมายถึง รัฐที่ร่วมกันเป็นสหพันธรัฐ (federation) หรือสมาพันธรัฐ (confederation) ซึ่งมีอำนาจอธิปไตยแบ่งปันกันระหว่างรัฐที่เป็นสมาชิกกับรัฐบาลกลางตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศนั้น ๆ ดังนั้น รัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกาจึงมีสถานภาพคล้ายคลึงกับรัฐของประเทศที่มีระบอบการปกครองเป็นสหพันธรัฐหรือสมาพันธรัฐอื่น ๆ อีกหลายแห่งทั่วโลก เพียงแต่อำนาจอธิปไตยของรัฐอาจมีมากน้อยไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปรัชญาในด้านการเมืองและการปกครองของแต่ละประเทศ ๒. การใช้คำ ?มลรัฐ? กับรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกานั้น ราชบัณฑิตยสถานกำหนดกันมานานแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานและเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายให้เข้าใจว่า เหตุใดจึงใช้ ?มลรัฐ? เฉพาะกับรัฐในสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ประเทศอื่น ๆ ที่มีการปกครองระบอบสหพันธรัฐหรือสมาพันธรัฐในปัจจุบันล้วนใช้คำ ?รัฐ? ทั้งสิ้น อีกทั้งคำ ?มลรัฐ? ก็มิได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ทำให้ไม่สามารถชี้แจงตอบคำถามของบุคคลและหน่วยงานภายนอกที่ไต่ถามเหตุผลในการใช้คำ ?มลรัฐ? เฉพาะกับสหรัฐอเมริกาได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ราชบัณฑิตยสถานจึงเห็นควรยกเลิกการ ?มลรัฐ? ในสหรัฐอเมริกา แล้วเปลี่ยนใช้คำ ?รัฐ? แทน (ผู้ตอบ : สำรวย นักการเรียน)

Serbia and Montenegro

ประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกร (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

Guernsey

เกาะเกิร์นซีย์ อยู่ในช่องแคบอังกฤษ (ผู้ตอบ : ปิยรัตน์ อินทร์อ่อน)

Svalbard and Jan Mayen Islands - The former Yugoslav Republic of Macedonia

Svalbard = สฟาลบาร์ (ตัว d ท้ายคำ ไม่ออกเสียง) เป็นหมู่เกาะของประเทศนอร์เวย์ ในมหาสมุทรอาร์กติก Jan Mayen = ยานไมเอน ก็เป็นเกาะของนอร์เวย์เช่นกัน ส่วน The former Yugoslav Republic of Macedonia เป็นชื่อดินแดนที่ชนชาติยูโกสลาฟรวมตัวและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อจัดตั้งประเทศยูโกสลาฟ แต่ยังมิได้จัดตั้ง เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ดินแดนต่าง ๆ ทั้ง ยูโกสลาฟ เซิร์บ โครแอต และสโลวีน ถูกรวมและจัดตั้งเป็นประเทศยูโกสลาเวีย และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศเซอร์เบียและมอนเตเนโกร (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

Occupied Palestinian Territory ภาษาไทยว่าอย่างไร

ดินแดนที่ปาเลสไตน์ครอบครอง (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

ราชบัณฑิตยสถานมีโครงการจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การเขียนชื่อประเทศฯ ใหม่อีกหรือไม่ เพราะมีประเทศใหม่เกิดขึ้นมา บางประเทศก็เปลี่ยนคำนำหน้าใหม่ บางประเทศก็ตั้งเขตการปกครองขึ้นใหม่

ราชบัณฑิตยสถานมีโครงการปรับปรุงการเขียนชื่อประเทศ แต่เนื่องจากประเทศและเขตการปกครองมีการเปลี่ยนแปลงอยู่มาก จึงต้องรวบรวมอีกระยะหนึ่ง เพื่อจัดทำเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ตอบ : นฤมล นุชวานิช)

ทำไม Vietnam จึงถอดออกมาเป็น เวียดนาม คือ ตัว t กลายเป็น ด ไปได้อย่างไร

เหตุที่เวียดนามสะกดด้วย ด เพราะเป็นคำที่ใช้กันมานานก่อนที่หลักเกณฑ์การทับศัพท์จะประกาศใช้ จึงคงไว้เป็นสะกดด้วย ด ตามเดิม (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

เมืองหลวงใหม่ของประเทศพม่า Pyinmana

เปียนมานา (ผู้ตอบ : อิสริยา เลาหตีรานนท์)

การเขียนพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เขียนโดยเว้นวรรคที่ใดบ้างจึงจะถูกต้อง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

การใช้เครื่องหมายไปยาลน้อย รูป ฯ ที่อยู่ท้ายพระนามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต้องเว้นวรรคเครื่องหมายไปยาลน้อย หรือไม่

ไม่เว้นวรรค โดยหลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายไปยาลน้อยให้เขียนเว้นวรรคหลังเครื่องหมาย โดยไม่ต้องคำนึงว่าคำหรือข้อความในส่วนที่ละไว้ข้างหน้าจะเว้นวรรคหรือไม่

ข้อความ ?๕ ธันวาฯ มหาราช เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พระชนมพรรษา? ใช้ได้หรือไม่

เป็นการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ควรแก้ไขเป็น ?๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ เฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา? หรือหากต้องการคำที่เป็นหัวข้อสั้น ๆ อาจตัดใช้เพียง ?เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐?

ข้อความ ?ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว? ใช้คำว่า ?วโรกาส? จะถูกต้องเหมาะสมกว่า ?โอกาส? หรือไม่

ข้อมูลของทางสำนักราชเลขาธิการใช้ว่า ?ในโอกาส? เนื่องจาก ?วโรกาส? จะใช้เฉพาะในกรณี?ขอโอกาส? จากพระมหากษัตริย์และเจ้านาย และเฉพาะกรณีพระมหากษัตริย์หรือเจ้านาย?ให้โอกาส? เช่น ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส…, ขอพระราชทานพระราชวโรกาส…, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้…, ทรงกระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้… ข้อความที่สอบถามมาจึงควรใช้ว่า ?ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ข้อความ ?เป็นกันเอง?, ?ทำงานหลายด้าน?, ?อารมณ์ดี?, ?ลา? (สามัญชนลาเจ้านาย),?เป็นความกรุณาอย่างยิ่ง? ใช้กับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ว่าอย่างไร

ใช้ว่า ?ทรงเป็นกันเอง, มีพระอัธยาศัยเป็นกันเอง?, ?ทรงงานหลายด้าน, ทรงปฏิบัติพระภารกิจหลายด้าน?, ?พระอารมณ์แจ่มใส?, ?กราบทูลลา?, ?เป็นพระกรุณาอย่างหาที่สุดมิได้?

คำกล่าวขออนุญาตนำสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ชมนิทรรศการที่จัดแสดงไว้ ใช้ราชาศัพท์ว่าอย่างไร

ใช้ว่า ขอพระราชทานพระราชานุญาตกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการที่จัดแสดงไว้

คำว่า กราบบังคมทูลรายงาน ต้องมีคำว่า แด่ ต่อท้ายหรือไม่

ไม่ต้องมี เช่น ใช้ว่า ?(ชื่อบุคคล) ได้กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าของโครงการ…?

คำว่า ?โดยเสด็จ? ต้องมี ฯ ตามท้ายหรือไม่

ไม่ต้องมี ฯ ตามท้ายคำว่า ?โดยเสด็จ?

คำว่า ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี คำว่า ?ทีฆ? ใช้ ท หรือ ฑ และใช้คำว่า ทีฆายุกา หรือ ทีฆายุโก

ใช้คำว่า ทีฆายุกา และใช้ ท ทหาร หากถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงใช้ว่า ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา โดยคำว่า ?ทีฆ? ใช้ ท ทหาร เช่นกัน

คำว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องมีเครื่องหมาย ฯ ต่อท้ายหรือไม่

ไม่ต้องมี

คำว่า "แย้มสรวล" ถูกต้องหรือไม่ในราชาศัพท์ และมีความหมายว่าอย่างไร

ที่ถูกต้องใช้ว่า “แย้มพระสรวล” หมายถึง ยิ้ม

คำว่า ?เฝ้าทูลพระบาท? ใช้กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้หรือไม่

ไม่มีการใช้คำดังกล่าว หากมีการขอพระราชทานพระวโรกาสเข้าเฝ้า จึงใช้ว่า เข้าเฝ้า หรือ เฝ้า หากเป็นการ ?รอรับ? ในเส้นทางเสด็จผ่าน หรือเส้นทางเสด็จ ใช้ว่า รอรับเสด็จ หรือ รับเสด็จ

คำลงท้ายที่ใช้กับพระราชวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าและชั้นหม่อมเจ้า ใช้ว่าอย่างไร

คำลงท้ายที่ใช้กับพระราชวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า ใช้ราชาศัพท์ว่า ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดและคำลงท้ายที่ใช้กับพระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ใช้ราชาศัพท์ว่า แล้วแต่จะโปรด

?ถวายชัยมงคล? - ?ถวายพระพรชัยมงคล? คำใดถูกต้อง

แต่เดิมมีการใช้ทั้ง ถวายชัยมงคล และ ถวายพระพรชัยมงคล ปัจจุบันใช้เป็นแบบแผนเดียวกันว่า ?ถวายพระพรชัยมงคล?

?ลงนามถวายพระพร? กับ ?ลงนามถวายพระพรชัยมงคล? คำใดถูกต้อง

ใช้ว่า ลงนามถวายพระพร

?วันเฉลิมพระชนมพรรษา? ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หมายถึง ?วันเกิด? ของพระองค์ ใช่หรือไม่

วันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไม่ได้หมายถึงวันเกิดหรือวันคล้ายวันเกิด แต่หมายถึงวันทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องใน วันคล้ายวันเกิด

?วันคล้ายวันเกิด? ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ใช้ราชาศัพท์ว่าอย่างไร

ใช้ว่า วันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ถ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเข้าพบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปา จะใช้เป็นประโยคราชาศัพท์ว่าอย่างไร

สมเด็จพระสันตะปาปาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัย กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย ความใดถูกต้อง

ใช้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัย (ไม่ใช้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย เนื่องจากคำกริยาที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้วไม่ต้องเติมคำว่า ?ทรง? ไว้หน้าคำอีก)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฏิสันถาร หรือทรงมีพระราชปฏิสันถาร

ใช้ว่า มีพระราชปฏิสันถาร หรือ ทรงพระราชปฏิสันถาร

ราชาศัพท์ของกริยาวลีว่า ?รับมอบถุงยังชีพ? จากพระองค์เจ้า

ควรใช้ว่า ?พระองค์เจ้าประทานถุงยังชีพแก่?? ไม่ควรใช้ว่า ??รับประทานถุงยังชีพจากพระองค์เจ้า?

ราชาศัพท์ของคำว่า ?กระเพาะอาหาร? ใช้ว่าอย่างไร

ใช้ว่า ?พระอามาศัย?

ราชาศัพท์ของคำว่า เกิด ที่ใช้กับสมเด็จพระสังฆราชใช้ว่าอย่างไร

ใช้ว่า ประสูติ

ราชาศัพท์ของคำว่า ?ให้?, ?ขอโอกาส?, ?เดินทางไป? ที่ใช้กับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ใช้ว่า ?พระราชทาน?, ?ขอพระราชทานพระวโรกาส? และ ?เสด็จไป?

ราชาศัพท์ของคำว่า ?ตาย? ที่ใช้กับสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี

ใช้ว่า สวรรคต

ราชาศัพท์คำว่า ?โปรด? มีความหมายว่าอย่างไร

มีความหมายว่า ?ชอบ? ใช้กับพระมหากษัตริย์และเจ้านายทุกชั้นยศ เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดการทรงดนตรี

ราชาศัพท์ของคำว่า ?ภาพถ่าย? และ ?ภาพเขียน, ภาพวาด? ที่เป็นภาพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

คำว่า ?ภาพถ่าย? ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ใช้ราชาศัพท์ว่า ?พระฉายาลักษณ์? คำว่า ?ภาพเขียน?, ?ภาพวาด? ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ใช้ราชาศัพท์ว่า ?พระสาทิสลักษณ์? หรือ ?พระฉายาสาทิสลักษณ์?

ราชาศัพท์ของคำว่า รูปเขียน, รูปวาด หรือ ภาพเขียน, ภาพวาด ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้ว่าอย่างไร

ใช้ว่า พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์, พระบรมสาทิสลักษณ์, พระบรมรูปเขียน

ราชาศัพท์ของคำว่า รูปถ่าย, ภาพถ่าย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้ว่าอย่างไร

ใช้ว่า พระบรมฉายาลักษณ์

ราชาศัพท์ ?ลายพระราชหัตถเลขา? ใช้กับพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่ มีความหมายอย่างไร

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการใช้ราชาศัพท์ ?ลายพระราชหัตถเลขา? ที่หมายถึง หนังสือหรือจดหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้ด้วยลายพระราชหัตถ์ (ลายมือ) ยกตัวอย่าง เช่น ลายพระราชหัตถเลขาที่ทรงไว้ในสมุดเยี่ยม

ราชาศัพท์ของคำว่า ?หัวเราะ? ที่ใช้กับสมเด็จเจ้าฟ้า

ใช้ว่า ?ทรงพระสรวล?

ราชาศัพท์ของคำว่า ?อนุสาวรีย์? ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ใช้ว่า ?พระบรมราชานุสาวรีย์?

ราชาศัพท์ที่ใช้ในการทำป้ายต้อนรับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ คำว่า ?ต้อนรับ? ใช้ราชาศัพท์ว่า เฝ้ารับเสด็จ หรือเฝ้าฯ รับเสด็จ หรือเฝ้าฯ รับเสด็จฯ และพระนามใช้ย่อว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้หรือไม่

ใช้พระนามเต็มว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ส่วนราชาศัพท์ว่า ?รับเสด็จ? ใช้ในกรณีรอรับในเส้นทางเสด็จผ่าน หากประทานพระวโรกาสให้เฝ้าจึงใช้คำว่า ?เฝ้า? หรือ ?เข้าเฝ้า? โดยไม่มีเครื่องหมาย ฯ ต่อท้ายทั้งสองคำ

ราชาศัพท์ของคำว่า ?ข้อศอก? ใช้อย่างไร

ใช้ว่า พระกัประ, พระกโประ

หม่อมเจ้า... คำขึ้นต้นถึงหม่อมเจ้า และคำสรรพนามแทนหม่อมเจ้า ใช้ว่าอย่างไร

คำขึ้นต้นถึงหม่อมเจ้า ใช้ว่า ?ทูล ระบุพระนาม? คำสรรพนามแทนหม่อมเจ้า ใช้ว่า ?ฝ่าพระบาท?

หม่อมเจ้า ใช้ว่า H.R.H. Prince หรือว่า H.R Prince หรือทับศัพท์ว่า Mom Chao

หม่อมเจ้าใช้ว่า His/Her Serene Highness Prince/Princess และใช้คำย่อว่า H.S.H. สามารถใช้ทับศัพท์ว่า Mom Chao ได้ โดยใช้คำย่อว่า M.C. อ่านเพิ่มเติมใน คลังความรู้ เรื่อง คำนำพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

หม่อมเจ้าสมประสงค์ ไชยันต์ เป็น ?ชายา? หรือ ?พระชายา? ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

เป็น ?ชายา?

หม่อมสมพันธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เขียนว่า หม่อมสมพันธ์ บริพัตร ณ อยุธยา ได้หรือไม่

เขียนได้ทั้ง ๒ แบบ แต่ให้พิจารณาเลือกใช้ในเหมาะสมกับบริบท

e-mail ทับศัพท์และออกเสียงอย่างไร

e-mail ทับศัพท์ว่า “อีเมล” โดยไม่มี ล์ เนื่องจากเป็นการถอดทับศัพท์จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ในภาษาอังกฤษมีตัวแอลตัวเดียว ภาษาไทยจึงมี ล เพียงตัวเดียว คำนี้มักเขียนผิดเป็น อีเมล์ อาจเป็นเพราะในภาษาไทยมีคำว่า “เมล์” ซึ่งใช้กันมานานแล้วในความหมายของถุงเมล์ หรือถุงไปรษณีย์ และรถเมล์ ซึ่งพจนานุกรมจึงได้เก็บคำ “เมล์” ไว้โดยถือเป็นคำไทยที่มาจากภาษาอื่นคำหนึ่ง คำ ?รถเมล์? มีเครื่องหมายทันฑฆาตตรง ล เนื่องจากอ่านว่า เม ส่วนอีเมล อ่านออกเสียงแบบคำอื่น ๆ ที่มี ล เป็นตัวสะกด (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

Internet ใช้ว่า อินเทอร์เน็ต หรือ อินเตอร์เน็ต

คณะกรรมการบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์ ของราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติ Internet ว่า ?อินเทอร์เน็ต? เพราะถือว่า Internet (ขึ้นต้นด้วยตัวใหญ่) เป็นชื่อเฉพาะที่ต้องสื่อสารกันเป็นสากลทั่วโลก จึงให้ใช้คำทับศัพท์ และได้ถอดทับศัพท์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่า t ที่เป็นพยัญชนะต้นให้ใช้ ท (ไม่ใช้ข้อยกเว้นที่ว่า inter- ให้ใช้ อินเตอร์) ส่วน internet (i ตัวเล็ก) ราชบัณฑิตยสถานไม่ได้บัญญัติไว้ อาจเป็นศัพท์ทั่วไป ส่วนคำถามที่ว่า บริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้ใช้ว่า อินเตอร์เน็ต เป็นการใช้ผิดหรือไม่ ชื่อบริษัทถือเป็นชื่อเฉพาะ จะไม่ใช้ตามหลักเกณฑ์ก็ได้ (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)

software/hardware

software = ส่วนชุดคำสั่ง, ซอฟต์แวร์ hardware = ๑. ส่วนเครื่อง ๒. ส่วนอุปกรณ์, ฮาร์ดแวร์ (ละมุนภัณฑ์/กระด้างภัณฑ์ไม่ใช่ศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน เป็นเพียงเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันเท่านั้น) joystick = ก้านควบคุม, built-in = ในตัว, window = หน้าต่าง, วินโดว์ Windows ที่เป็นชื่อเฉพาะ = วินโดวส์ PowerPoint/Lotus Notes/Excel/Basic/Visual Basic/Microsoft เป็นชื่อเฉพาะให้ใช้ทับศัพท์ตามหลักเกณฑ์ หรือเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ multitasking = ระบบหลายภารกิจ taskbar ไม่มีศัพท์บัญญัติ ให้ทับศัพท์ว่า ทาสก์บาร์ ท่านสามารถตรวจสอบศัพท์บัญญัติสาขาวิชาต่าง ๆ ได้จากเมนูศัพท์บัญญัติวิชาการที่อยู่ด้านบน หรือสอบถามทางเว็บบอร์ด, อีเมล ripub@royin.go.th, ทางเมนูติดต่อเรา หรือโทรศัพท์หมายเลข ๐ ๒๓๕๖ ๐๔๖๖-๗๐ รายชื่อหนังสือศัพท์บัญญัติที่เผยแพร่ดูได้จากหัวข้อสิ่งพิมพ์ (ผู้ตอบ : นัยนา วราอัศวปติ)