ไปยาลใหญ่ หรือ เปยยาลใหญ่

         ชื่อเครื่องหมายวรรคตอน รูปดังนี้ ฯลฯ

         มีหลักเกณฑ์การใช้ดังต่อไปนี้

๑. ใช้สำหรับละข้อความข้างท้ายที่อยู่ในประเภทเดียวกัน ซึ่งยังมีอีกมาก แต่ไม่ได้นำมาแสดงไว้

ตัวอย่าง

         (๑) สำนวนไทยที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “หน้า” มี หน้าตาย หน้าเป็น หน้าบาน ฯลฯ

         (๒) สิ่งของที่ซื้อขายกันในตลาดมี เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ น้ำตาล น้ำปลา ฯลฯ

การอ่านเครื่องหมายไปยาลใหญ่ หรือ เปยยาลใหญ่ ที่อยู่ข้างท้ายข้อความ ให้อ่านว่า “ละ” หรือ “และอื่น ๆ”

๒.โบราณใช้ละคำหรือข้อความที่อยู่ตรงกลางก็ได้ โดยบอกตอนต้นและตอนจบไว้

ตัวอย่าง

         (๑) พยัญชนะไทย ๔๔ ตัว มี ก ฯลฯ ฮ

         (๒) เขาเจริญพุทธคุณว่า อิติปิ โส ฯลฯ ภควาติ

การอ่านเครื่องหมายไปยาลใหญ่ หรือ เปยยาลใหญ่ ที่อยู่ตรงกลางข้อความ อ่านว่า “ละถึง”

ที่มา : หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ ฯ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๖ (แก้ไขเพิ่มเติม) หน้า ๔๐