อัฒภาค (semicolon)

        ชื่อเครื่องหมายวรรคตอน รูปดังนี้ ;

        มีหลักเกณฑ์การใช้ดังต่อไปนี้

๑. ใช้แยกประโยคเปรียบเทียบออกจากกัน

ตัวอย่าง

        (๑) ลักษณะเขียนหนังสือ เราเขียนถ้อยคำติดกันไปหมดไม่เว้นระยะคำทุก ๆ คำอย่างเช่นลักษณะเขียนหนังสือของชาวยุโรป, จึ่งทำให้เป็นที่ฉงนแก่ผู้ไม่สู้ชำนิชำนาญในเชิงการอ่านหนังสือไทย; ไม่ใช่แต่ชาวต่างประเทศ, ถึงแม้คนไทย ๆ เราเองก็รู้สึกลำบากอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน.
        (๒) คนบางคนมีความสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้แทบทุกชนิด; บางคนเล่นไม่เป็นสักอย่าง.
        (๓) น้ำมาปลากินมด; น้ำลดมดกินปลา.

๒. ใช้คั่นระหว่างประโยคที่มีรูปประโยคและใจความสมบูรณ์อยู่แล้ว เพื่อแสดงความต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดของประโยคนั้น

ตัวอย่าง

        วาทยกรประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัส; การแสดงดนตรีจึงต้องงด.

๓. ใช้แบ่งประโยค กลุ่มคำ หรือกลุ่มตัวเลขที่มีเครื่องหมายจุลภาคอยู่แล้ว ออกเป็นส่วนเป็นตอนให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อกันความสับสน

๓.๑ แบ่งประโยค

ตัวอย่าง

        นางสาวมณฑาทิพยNกำลังแต่งตัว, หวีผม, แต่งหน้า, จะไปทำงาน; บังเอิญมีแขกมาหา, ต้องออกมารับแขก; เมื่อแขกไปแล้ว, จึงออกจากบ้าน; ทำให้ไปถึงที่ทำงานสาย.

๓.๒ แบ่งกลุ่มตัวเลข

ตัวอย่าง

        ๑, ๓, ๕; ๒, ๔, ๖

๔. ใช้คั่นคำในรายการที่มีจำนวนมาก ๆ เพื่อจำแนกรายการออกเป็นพวก

ตัวอย่าง

        การสัมมนาครั้งนี้มีผู้แทนจากหน่วยราชการต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย เช่น กรมวิชาการ, กรมอาชีวศึกษา, ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ; กรมป่าไม้, กรมวิชาการเกษตร, ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์; กรมอนามัย, กรมการแพทย์, ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข.

๕. ใช้ในหนังสือประเภทพจนานุกรม

๕.๑ เพื่อคั่นบทนิยามของคำที่มีความหมายหลายอย่าง แต่ความหมายนั้นมีนัยเนื่องกับความหมายเดิม

ตัวอย่าง

        (๑) กิ่ง น. ส่วนที่แยกออกจากต้น, แขนง; ใช้เรียกส่วนย่อยที่แยกออกไปจากส่วนใหญ่ แต่ยังขึ้นอยู่กับส่วนใหญ่ เช่น กิ่งอำเภอ กิ่งสถานีตำรวจ; ลักษณนามเรียกงาช้าง ว่า กิ่ง; เรือชนิดหนึ่งในกระบวนพยุหยาตรา.
        (๒) ดุม น. ส่วนกลางของล้อเกวียนหรือล้อรถที่มีรูสำหรับสอดเพลา; เครื่องกลัดกันส่วนต่าง ๆ ของเสื้อผ้าไม่ให้แยกออกจากกันทำเป็นรูปต่าง ๆ มักมีรังดุมสำหรับขัด, กระดุม ลูกกระดุม หรือ ลูกดุม ก็เรียก.

๕.๒ เพื่อคั่นอักษรย่อบอกที่มาของคำ

ตัวอย่าง

        (๑) กุศล [–สน] น. สิ่งที่ดีที่ชอบ, บุญ. ว. ฉลาด (ส.; ป. กุสล).
        (๒) ปกรณ์ [ปะกอน] น. คัมภีร์, ตำรา, หนังสือ. (ป. ปกรณ; ส. ปฺรกรณ).

ที่มา : หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ ฯ หน้า ๘-๑๐