ไม้ยมก หรือ ยมก

         ชื่อเครื่องหมายวรรคตอน รูปดังนี้

         มีหลักเกณฑ์การใช้ดังต่อไปนี้

ใช้เขียนหลังคำ วลี หรือประโยค เพื่อให้อ่านซ้ำคำ วลีหรือประโยคอีกครั้งหนึ่ง

ตัวอย่าง

         (๑) เด็กเล็ก ๆ [เด็ก-เล็ก-เล็ก]
         (๒) ในวันหนึ่ง ๆ [ใน-วัน-หนึ่ง-วัน-หนึ่ง]
         (๓)  แต่ละวัน ๆ [แต่-ละ-วัน-แต่-ละ-วัน]
         (๔) มีเสียงตะโกนว่า “ไฟไหม้ ๆ” [มี-เสียง-ตะ-โกน-ว่า-ไฟ-ไหฺม้-ไฟ-ไหฺม้]

หมายเหตุ

         ๑. คำที่เป็นคำซ้ำ ต้องใช้ไม้ยมก หรือยมก เสมอ เช่น สีดำ ๆ [สี-ดำ-ดำ] เด็กตัวเล็ก ๆ [เด็ก-ตัว-เล็ก-เล็ก]

         ๒. ไม่ควรใช้ไม้ยมก หรือ ยมก ในกรณีดังต่อไปนี้

               ๒.๑ เมื่อเป็นคำคนละบทคนละความ

ตัวอย่าง

เขียนผิด

เขียนถูก

ฉันจะไปปทุมวัน ๆ นี้. ฉันจะไปปทุมวันวันนี้.
เขาเคยมาทุกวัน ๆ นี้ไม่มา. เขาเคยมาทุกวัน วันนี้ไม่มา.
เขาซื้อสี ๕ กระป๋อง ๆ ละ ๕๐ บาท. เขาซื้อสี ๕ กระป๋อง กระป๋องละ ๕๐ บาท.
นายดำ ๆ นา. นายดำดำนา.

 

๒.๒ เมื่อรูปคำเดิมเป็นคำ ๒ พยางค์ ที่มีเสียงซ้ำกัน

ตัวอย่าง

               (๑) นานา เช่น นานาชาติ นานาประการ
               (๒) จะจะ เช่น เขียนจะจะ ดำนาจะจะ มุง (หลังคา) จะจะ

               ๒.๓ เป็นคำคนละชนิดกัน

ตัวอย่างคนคนนี้ เช่น คนคนนี้มีวินัย (คนคำแรกเป็นสามานยนาม คนคำหลังเป็นลักษณนาม)

               ๒.๔ เมื่อเป็นคำประพันธ์

ตัวอย่าง

               หวั่นหวั่นจิตรคิดคิดหวนครวญครวญหา
               คอยคอยหายหลายหลายนัดผัดผัดมา แทบแทบเดือนเตือนเตือนว่าช้าช้าวัน
เอะเอะผิดติดติดเบือนเชือนเชือนไฉน แปลกแปลกใจใคร่ใคร่รู้ดูดูขัน
               ทำทำทีหนีแหนงแกล้งแกล้งกัน เชิงเชิงชั้นหันหันบากฉากฉากใจ
              
…………………………………………… …………………………………………….

ยกเว้นกลบทที่มีกำหนดให้ใช้ไม้ยมก

ตัวอย่าง

               มีรูปเหญี่ยว ๆ ตั้ง ตามไตร มุขนา
              
ทกที่มุม ๆ ของ เขตต์นั้น
              
ป้านลมจับ ๆ ไสว แสวงเหยื่อ เยี่ยงเฮย
              
กระเบื้องประดับ ๆ ถ้วยไสร้ สบสรรพ์ฯ

 

ที่มา : หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ ฯ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๖ (แก้ไขเพิ่มเติม) หน้า ๓๗-๓๘