กราบ-กาบ

          คำว่า กราบ เมื่อเป็นคำนาม หมายถึง ไม้ที่เสริมข้างตัวเรือให้สูงขึ้น ไม้ที่ติดไว้ตลอดด้านข้างของตัวเรือสำหรับเดินหรือยืนค้ำถ่อ และเป็นคำเรียกส่วนข้างของเรือว่า กราบซ้าย กราบขวา. เมื่อเป็นคำกริยา หมายถึง แสดงความเคารพอย่างสูงต่อผู้ใหญ่ ผู้มีอาวุโส พระภิกษุ หรือพระราชวงศ์ ด้วยการประนมมือยกขึ้นเสมอหน้าผาก แล้วน้อมศีรษะลงจดพื้น เมื่อกราบบุคคลมือจะประนมอยู่อย่างนั้น เมื่อกราบพระภิกษุ พระพุทธรูป จะแบมือคว่ำลงกับพื้น.

          คำว่า กราบ มีพยัญชนะต้นเป็นเสียงควบ กร หากไม่ออกเสียงควบให้ชัดเจนอาจสับสนกับคำว่า กาบ ซึ่งเป็นคำเรียกเปลือกที่หุ้มอยู่เป็นชั้น ๆ ของต้นไม้บางชนิด เช่น กล้วย พลับพลึง   ซึ่งกาบจะลอกออกได้เป็นชั้น ๆ เช่น กาบหมากเป็นคำเรียกเปลือกที่หุ้มรอบลำต้นส่วนยอด กาบหมากมีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่ มีความหนาพอควร เนื้อแน่น สามารถใช้ขังน้ำได้ กาบหมากใช้ทำประโยชน์หลายอย่าง เช่น ทำกระโปรงห่อผลไม้ ทำพัด ทำเนียนสำหรับตักน้ำพริกจากครก

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.