กะละแม

          กะละแมเป็นชื่อขนมไทยชนิดหนึ่งใน ๓ ชนิดที่นิยมทำกันในช่วงสงกรานต์ และต้องทำให้เสร็จก่อนวันสงกรานต์ ขนม ๓ ชนิดดังกล่าวคือ ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวแดง และกะละแม. ขนมทั้ง ๓ ชนิด ทำด้วยข้าวเหนียว กะทิ และน้ำตาล แต่กะละแมต้องกวนกันจนข้าวเหนียวแหลกไม่เป็นเม็ดและมีสีน้ำตาลเข้ม ขนมชนิดนี้ได้มาจากมอญและพม่า เรียกว่า กฺวายฺนกลาแม (อ่านว่า กฺวาน-กะ -ลา-แม) คำว่า กฺวายฺน (อ่านว่า กฺวาน) แปลว่า ขนม. 

          กะละแมมี ๒ ชนิด เรียกตามวัตถุดิบหลักที่ใช้คือ ชนิดแรกเรียกกะละแมเม็ด เป็นขนมดั้งเดิม ใช้ข้าวเหนียวทั้งเมล็ดกวนกับกะทิและน้ำตาล จนเป็นแป้งเหนียว แต่ยังมีเมล็ดข้าวส่วนที่ละลายไม่หมดเป็นไตเล็ก ๆ อยู่. ชนิดที่ ๒ เรียกว่า กะละแมแป้ง ใช้แป้งข้าวเหนียวกวนกับกะทิและน้ำตาล กะละแมที่กวนขายกันในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกะละแมแป้งเพราะทำได้ง่ายกว่า และดัดแปลงให้มีสี รส และกลิ่นต่าง ๆ เช่น กะละแมสีแดง กะละแมรสช็อกโกแลต กะละแมกลิ่นใบเตย เป็นต้น

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.