กากี
  
          คำ “กากี”  นอกจากจะหมายถึง กาตัวเมีย หรือสีนํ้าตาลปนเหลือง สีสนิมเหล็ก แล้ว ยังเป็นคำที่ใช้เป็นคำด่าหญิงมากชู้หลายผัวอีกด้วย  เหตุใดจึงเรียกเช่นนั้น  สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒  เล่าไว้ว่า

          กากี เป็นชื่อหญิงรูปสวยกลิ่นตัวหอม เป็นชายาของท้าวพรหมทัตผู้ครองกรุงพาราณสี  วันหนึ่งพญาครุฑซึ่งอยู่วิมานฉิมพลีที่เชิงเขาพระสุเมรุบินมาเที่ยวในชมพูทวีป โดยแปลงเพศเป็นมาณพ (ชายหนุ่ม) เข้าเล่นสกากับท้าวพรหมทัต  นางกากียืนแฝงประตูดูเห็นมาณพรูปสวยก็เกิดอารมณ์รัก  ฝ่ายมาณพชำเลืองเห็นนางก็เกิดอารณ์เช่นเดียวกัน หลังเลิกเล่นสกา ลาท้าวพรหมทัตออกมานอกเมืองแล้ว จึงกลายเพศเป็นพญาครุฑกระพือปีกพัดเมฆเกลื่อนกรุงพาราณสี  และร่อนลงตรงหน้าปราสาทที่นางกากีประทับแล้วกลับเพศเป็นมาณพเข้าโลมนาง ซึ่งนางกากีก็ไม่ปฏิเสธรัก  พญาครุฑจึงอุ้มนางบินกลับไปวิมานฉิมพลี  กลายเพศเป็นเทพบุตร (เทวดาผู้ชาย) เข้าร่วมนางบนแท่นรัตนามัย

          ครบ ๗ วัน พญาครุฑมาเล่นสกาอีก ได้เวลาก็บินกลับ แต่คราวนี้มีคนธรรพ์ชื่อนาฏกุเวรแปลงกายเป็นตัวไรแอบซ่อนในขนครุฑกลับไปยังวิมานฉิมพลีด้วย (เพื่อสืบหานาง) โดยเกาะที่หน้าต่างวิมาน  เมื่อเห็นครุฑไปแล้วก็ปรากฏร่างให้นางกากีเห็น แล้วเข้าโลมนาง  เป็นอันว่ากลางคืนเป็นเมียครุฑ กลางวันเป็นเมียคนธรรพ์

          ถึงวันเล่นสกาอีกครั้ง (สกาเล่น ๗ วันต่อครั้ง) คนธรรพ์จึงแอบซ่อนในขนครุฑอีกครั้งเพื่อกลับไปยังกรุงพาราณสีด้วย แล้วกราบทูลความให้ท้าวพรหมทัตทราบโดยตลอด  ซึ่งเมื่อทราบความแล้วท้าวพรหมทัตทรงระงับความไว้  จวบจนครบ ๗ วันอีกครั้งเมื่อพญาครุฑมาเล่นสกา คนธรรพ์ได้ดีดพิณเป็นเพลงเย้ยพญาครุฑกล่าวตั้งแต่ตนไปอภิรมย์นางจนร้างจากกันมา  ทำให้พญาครุฑอับอายมากกลับไปรับนางกากีมาส่งคืน  เมื่อท้าวพรหมทัตเห็นนางได้ตรัสเย้ยและบริภาษด้วยเดือดแค้น และสั่งให้พานางไปลอยแพเสียในแม่น้ำไหล

          จึงเป็นที่มาของการเรียกหญิงมากชู้หลายผัว ว่า กากี.

       กนกวรรณ  ทองตะโก