การละเล่นของเด็กไทย

          การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) หรือบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในปัจจุบัน เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดสร้างตราไปรษณียากรออกเผยแพร่ และได้ขอความร่วมมือจากราชบัณฑิตยสถานเสมอมาในการกำหนดชื่อภาษาอังกฤษของภาพต่าง ๆ ที่จะนำไปจัดทำเป็นดวงตราไปรษณียากร ภาพในดวงตราไปรษณียากรบางชุดเป็นภาพที่ต้องการให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย  เช่น  ภาพชุดการละเล่นของเด็กไทย  ที่ กสท. ได้จัดสร้างขึ้น แสดงให้เห็นถึงแง่มุมหนึ่งของวิถีชีวิตเด็กไทยในสมัยก่อน  ซึ่งราชบัณฑิตยสถานได้จัดทำชื่อภาษาอังกฤษของการละเล่นต่าง ๆ จำนวน ๒๑ ชื่อ และได้นำไปจัดสร้างเป็นตราไปรษณียากรบ้างแล้วดังภาพที่นำมาแสดงนี้

การละเล่นของเด็กไทย
 Thai children’s games

            ๑.  การเล่นว่าว  Kite flying                                         
            ๒.  ตีลูกล้อ  Wheel rolling                                     
            ๓.  รีรีข้าวสาร  Catching the last one in the line
            ๔.  งูกินหาง  Snatching a baby from the mother snake          
            ๕.  แมงมุมขยุ้มหลังคา  Spider clutching the roof
            ๖.  หมากเก็บ  Pebbles tossing and picking 
            ๗.  ซ่อนหา  Hide and seek          
            ๘.  จ้ำจี้  Touching a finger on the hands 
            ๙.  ชักเย่อ  Tug of war 
          ๑๐.  วิ่งเปี้ยว  Chase racing  
          ๑๑.  มอญซ่อนผ้า  Hiding a cloth behind one’ s back
          ๑๒.  อ้ายเข้อ้ายโขง  Teasing  the crocodile
          ๑๓.  ลิงชิงหลัก  Monkeys scrambling for posts
          ๑๔.  โพงพาง  Trapping the fish
          ๑๕.  ตี่จับ  Humming and Tagging (Kabaddi)
          ๑๖.  ปิดตาตีหม้อ  Blindfold pot-hitting
          ๑๗.  เดินกะลา  Walking with coconut shells
          ๑๘.  กระโดดเชือก  Rope skipping
          ๑๙.  ขี่ม้าส่งเมือง  Piggyback racing
          ๒๐.  ลูกข่าง  Top spinning
          ๒๑.  ขี่ม้าก้านกล้วย  Banana rib hobbyhorse riding

          การกำหนดชื่อภาษาอังกฤษของการละเล่นนี้ คณะราชบัณฑิตที่ปรึกษาเป็นผู้ดำเนินการ  จะไม่ใช้การทับศัพท์เนื่องจากไม่สามารถสื่อความหมายได้  ส่วนใหญ่ใช้การแปลความแสดงให้เห็นหลักของวิธีการเล่น การละเล่นของเด็กไทยบางอย่าง เช่น ชักเย่อ ซ่อนหา ตรงกับการละเล่นของชาวตะวันตก จึงใช้ชื่อภาษาอังกฤษเหมือนกัน.

ผู้เรียบเรียง : นางสาวบุญธรรม  กรานทอง นักวรรณศิลป์ ๗ ว กองศิลปกรรม
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๑๕๒ มกราคม ๒๕๔๗