การเขียนหมายเลขโทรศัพท์ในประเทศ

          โทรศัพท์นับเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดช่องทางหนึ่ง เนื่องจากประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และติดต่อสื่อสารได้รวดเร็ว  ด้วยเหตุนี้จึงมักปรากฏหมายเลขโทรศัพท์ทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแผ่นพับ ใบปลิว เอกสารโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ  ซึ่งมีรูปแบบการเขียนแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างการเขียนหมายเลขโทรศัพท์พื้นฐานและหมายเลข โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่พบ เช่น ๐๒ ๓๕๖ ๐๔๘๕ ๐๒-๓๕๖-๐๔๘๕ ๐๘๑ ๕๕๕ ๐๔๕๕ ๐๘๑-๕๕๕-๐๔๕๕  

          จากตัวอย่างการเขียนหมายเลขโทรศัพท์ข้างต้น จะเห็นว่าการเขียนหมายเลขโทรศัพท์มีหลากหลายรูปแบบ แล้วรูปแบบใดเป็นรูปแบบที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถาน  คอลัมน์ “องค์ความรู้ภาษาไทยโดยราชบัณฑิตยสถาน” ฉบับนี้มีคำตอบ

          การกำหนดรูปแบบหมายเลขโทรศัพท์ในประเทศทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน ได้รวมหมายเลขรหัสทางไกลหรือรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอยู่เดิมเข้ากับหมายเลขโทรศัพท์  การเขียนหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งเดิมเขียนหมายเลขรหัสทางไกลหรือรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ก่อนแล้วจึงเขียนหมายเลขโทรศัพท์ ได้ปรับเปลี่ยนใหม่ เป็นดังนี้

          ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเดิมมีรหัสทางไกล ๐๒ ให้เขียนดังนี้ 

          หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๓๕๖ ๐๔๖๖ ๐ ๒๓๕๖ ๐๔๖๖-๗๐

          ในต่างจังหวัด เช่น จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเดิมมีรหัสทางไกล ๐๓๒ ให้เขียนดังนี้ 

          หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๓๒๒๑ ๑๒๓๔

          หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีรหัส เช่น ๐๘๑ ๐๘๙ ให้เขียนดังนี้ 

          หมายเลขโทรศัพท์ ๐๘ ๑๕๕๓ ๐๗๔๓ ๐๘ ๙๐๐๖ ๖๙๙๖

                                                                                                  พรทิพย์  เดชทิพย์ประภาพ