การแสดงปาง

          การแสดงปาง (มุทรา) ด้วยพระหัตถ์ของพระพุทธรูปเป็นที่ยอมรับและใช้สืบต่อกันมาช้านาน จนกลายเป็นแบบอย่างที่กระทำขึ้นเพื่อแสดง ทิพยกิริยา  การแสดงปางของพระพุทธรูปในประเทศต่าง ๆ มีปางที่นิยมสร้างขึ้นตรงกัน ๖ ปาง ดังที่หนังสือศิลปกรรมไทย: พระพุทธปฏิมา พระบรมมหาราชวัง วัด เรือนไทยภาคกลาง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  กล่าวถึงไว้ มีดังนี้

          ๑. ปางประทานพร หรือ วรธะมุทรา ใช้กับพระพุทธรูปยืน แสดงท่าห้อยพระหัตถ์ขวาลงหงายฝ่าพระหัตถ์ออกยื่นไปข้างหน้าเล็กน้อย พระหัตถ์ซ้ายมีทั้งแบบที่ยกขึ้นจับชายจีวรไว้และแบบที่ห้อยลงข้างพระวรกายหรืออาจทำกลับกัน

          ๒. ปางประทานอภัย หรือ อภยะมุทรา ใช้กับพระพุทธรูปยืน แสดงท่ายกพระหัตถ์ขวายื่นออกไปข้างหน้า ฝ่าพระหัตถ์หันออกและเหยียดพระกรตรง มีทั้งที่ยกเพียงพระหัตถ์เดียวและยก ๒ พระหัตถ์ ท่าที่ยกทั้ง ๒ พระหัตถ์นั้นตรงกับปางห้ามสมุทร

          ๓. ปางเทศนา หรือ วิตารกะมุทรา แสดงท่ายกพระหัตถ์ขวาขึ้น หันฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้า นิ้วหัวแม่มือบิดเข้าแตะโคนนิ้วชี้แสดงท่าสั่งสอน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย

          ๔. ปางปฐมเทศนา หรือ ธัมมะจักรามุทรา แสดงท่ายกพระหัตถ์ขวาขึ้น ฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้า กรีดนิ้วพระหัตถ์เป็นวงในลักษณะธรรมจักร และยังมีที่ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเป็นเชิงประคองพระหัตถ์ขวา

          ๕. ปางมารวิชัย หรือ ภูมิผัสสะมุทรา แสดงท่าทอดพระหัตถ์ขวาลงพาดพระชานุ (เข่า) ที่แสดงชี้อ้างเอาพระธรณีเป็นพยานในคราวตรัสรู้ พระหัตถ์ซ้ายทอดวางบนพระเพลา แบฝ่าพระหัตถ์ในท่าปรกติ

          ๖. ปางสมาธิ หรือ ธยานะมุทรา แสดงท่าวางพระหัตถ์ประสานกันบนพระเพลา ส่วนมากพระหัตถ์ขวาวางทับพระหัตถ์ซ้าย มักใช้กับพระพุทธรูปนั่งทั้งสมาธิราบและสมาธิเพชร

          นอกจากนั้นยังมีท่าปลีกย่อยอีก ๒ ท่า คือ ท่าพิจารณาธรรม และ อัญชลีมุทรา คือท่าพนมมือ ซึ่งโดยมากใช้กับพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้าในอดีตและพระสาวก ตลอดจนพระโพธิสัตว์ของฝ่ายมหายาน

   พัชนะ  บุญประดิษฐ์