การ “จับบวช” คำไทยเป็นรูปบาลีสันสกฤต

          เมื่อพูดถึงเรื่องการ “จับบวช” คำไทยให้เป็นคำแขก โดยเขียนให้เป็นรูปบาลีและสันสกฤตแล้ว เราต้องยกให้คนโบราณที่ท่านสามารถ “จับบวช” ได้อย่างเหมาะเจาะแทบจะไม่มีที่ติเลย จนบางทีทำให้คิดว่าเราได้มาจากภาษาแขกจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่ความจริงอาจเป็นคำไทยแท้ ๆ ก็ได้ เช่น  คำว่า “เบียดเบียน” ในหนังสือเก่า ๆ คำว่า “เบียด” ท่านใช้ ฑ สะกด เป็น “เบียฑ” และคำว่า “เบียน” ท่านก็ใช้ ฬ สะกด เป็น “เบียฬ” ทั้งนี้ท่านก็มีหลักของท่าน เพราะในคำบาลี “ปีฑ” (ปี-ดะ) และ “ปีฬ” (ปี-ละ) เราก็แปลกันว่า “เบียดเบียน”

          ตามหลักภาษา คำในภาษาบาลีสันสกฤต ถ้าตัวหน้าเป็นตัว ป เวลาเรานำมาใช้ในภาษาไทย มักจะแผลงเป็นตัว บ เช่น “ปุญฺ” เราก็ใช้ว่า “บุญ” “ปาป” เราก็ใช้ว่า “บาป” ดังนั้น “ปีฑ” เราก็นำมาใช้เป็น “บีฑา” คือ แผลงตัว ป เป็น บ แล้วเติมสระอาลงไป แล้วเราก็แผลง อี เป็น เอีย เพราะ อิ อี เราอาจแผลงเป็น เอีย ได้ เช่น “วชิร” เราก็แผลงเป็น “วิเชียร” “จิร” เราก็แผลงเป็น “เจียร” หรือ “ทีรฺฆ” (ที-รฺ-คะ) เราก็แผลงเป็น “เทียรฆ์” เป็นต้น ดังนั้น “ปีฑ” เราก็แผลงทั้งพยัญชนะและสระเป็น “เบียฑ” ในทำนองเดียวกัน เราก็แผลง “ปีฬ” เป็น “เบียฬ” ด้วย ดังนั้นคำว่า “เบียดเบียน” จึงกลายรูปเป็น “เบียฑเบียฬ” มีลักษณะเป็นแขกไป ซึ่งก็นับว่าบรรพบุรุษของเราในสมัยโบราณท่านมีศิลปะในการ “จับบวช” สูงมาก

          แต่คนในปัจจุบันนี้ บางทีทั้งที่ไม่รู้ภาษาบาลีและสันสกฤต ก็ชอบ “จับบวช” ให้เป็นแขก โดยไม่มีความรู้ภาษาบาลีสันสกฤตเลย ทำให้คำที่สำเร็จรูปออกมาเพราะบวชไม่เป็นนี้กลายเป็นคำที่มีความหมายไปในทางไม่เป็นมงคลก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก และคำที่ถูก “จับบวช” แบบนี้มีทั้งที่เป็นคำไทย คำเขมร คำจีน หรือแม้แต่คำแขก คือ คำบาลีสันสกฤตเอง ก็ยังถูกจับบวชให้มีความหมายเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ จับแขกบวชเป็นแขก ยกกำลัง ๒ ไปเลยก็มี

          คำไทยที่ถูกจับบวชเป็นแขก เช่น คำว่า “มน” และ “เบียดเบียน” ดังกล่าวมาแล้ว คำเขมรที่ถูก “จับบวช” เป็นแขกและทำให้มีความหมายกลายไปในทางที่ไม่ดีก็คือคำว่า “วิไล” ที่ “ไล” ใช้สระ ไอ ไม้มลาย ล ซึ่งแปลว่า “งาม” ก็มีผู้ “จับบวช” เป็น “วิลัย” ที่คำ “ลัย” ใช้ ล ไม้หันอากาศ ย สะกด กลายเป็นคำบาลี มีความหมายว่า “น. ความย่อยยับ การสลาย การทำให้สลาย” ไป เช่น คำว่า “งามวิไล” “ไล” ที่ “วิไล” ใช้ สระไอ ไม้มลาย ล ก็แปลว่า “งาม” “งามวิไล” ก็คือ “งามงาม” หมายถึง “งามมาก” เป็นการแปลคำหนึ่งเป็นอีกคำหนึ่งไปในตัว นับว่าเป็นวิธีอนุรักษ์คำได้ดีมากวิธีหนึ่ง แต่ถ้าเขียนเป็น “งามวิลัย” “ลัย” ที่ “วิลัย” ใช้ ล ไม้หันอากาศ ย สะกด ก็ต้องแปลว่า “งามย่อยยับ” หรือ “ความย่อยยับที่งาม” เป็นต้น

          คำจีนที่ถูก “จับบวช” เป็นแขกก็มี อย่างคนมีชื่อ “เจีย” ท่านก็เติม ร การันต์ลงไปเป็น “เจียร์” ออกเสียงอย่างเดิม แต่มีความหมายว่า “ยั่งยืน” โดยแผลงมาจาก “จิร” (จิ-ระ) ในภาษาบาลี หรือคำว่า “วรา” เป็นภาษาบาลีแปลว่า “ประเสริฐ” เมื่อเติม ห การันต์ลงไปข้างท้ายเป็น “วราห์” ก็เป็นภาษาบาลีอีก แต่แปลว่า “หมู” เป็นต้น

ผู้เขียน : .จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๓๙๐.