กุหลาบ

          เมื่อกล่าวถึง “กุหลาบ” คำนี้คงทำให้นึกถึงดอกไม้ชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอม ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลมคม แต่จะมีใครทราบบ้างว่า กุหลาบไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นคำที่รับมาจากภาษาอื่น จากข้อมูลในหนังสืออภิธานศัพท์คำไทยที่มีต้นเค้าจากภาษาต่างประเทศ ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์ ระบุว่า กุหลาบ เป็นคำที่มาจากภาษาเปอร์เซีย โดยคำว่า กุล = gul หรือ gol แปลว่า ดอกกุหลาบ ดอกไม้ทั่วไป และแปลว่าสีแดงก็ได้ เมื่อเติม āb ต่อท้าย เป็น กุลลาพ  จะแปลว่า น้ำกุหลาบ หรือน้ำดอกไม้เทศ ซึ่งไทยเรานำมาใช้เรียกแทนชื่อดอกไม้ขนาดย่อมมีกลิ่นหอมนั่นเอง

          กุหลาบถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักและความโรแมนติก และมักจะมีผู้เปรียบเทียบความงามของผู้หญิงเป็นเสมือนดอกกุหลาบ ซึ่งดอกกุหลาบในที่นี้หมายถึงกุหลาบที่อยู่ในสกุล Rosa  วงศ์ Rosaceae หนังสืออนุกรมวิธานพืชอักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายลักษณะของพรรณไม้สกุลนี้ว่า  เป็นไม้พุ่มหรือไม้เลื้อย มีหนาม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่  เรียงสลับ ขอบใบย่อยจักฟันเลื่อย หูใบติดกับก้านใบหรือเป็นอิสระ ดอกเดี่ยว ออกตามปลายยอด กลีบเลี้ยงเรียว โคนติดที่ฐานดอกรูปถ้วย ปลายแยก ๕ แฉก เมื่อเจริญเต็มที่ขยายใหญ่เนื้อนุ่มหุ้มรังไข่ไว้ กลีบดอก ๕ กลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก เกสรเพศเมียมีหลายอัน อยู่แยกกัน แต่ละอันมีออวุล ๑ เม็ด ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน มีจำนวนมากอยู่ภายในฐานดอกรูปถ้วย  กุหลาบในสกุลนี้มีหลายชนิด เช่น กุหลาบแดงกำมะหยี่ [Rosa chinensis  Jacq.] กุหลาบหนู [R. chinensis  Jacq. var. minima  Voss]  กุหลาบแดงจีน [R. chinensis  Jacq. var. semperflorens  Koehne] กุหลาบเขียว [R. chinensis  Jacq. var. viridiflora  Dippel] กุหลาบมอญ [R. damascena  Mill.]

          ในเทศกาลวาเลนไทน์ที่ใกล้จะถึงนี้ ดอกกุหลาบยังคงเป็นของขวัญของกำนัลที่นิยมมอบให้แก่กันเพื่อแสดงถึงความรัก ไม่ว่าจะเป็นการรักครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน คนรัก หรือแม้แต่คนใกล้ชิด โดยไม่จำกัดวัยและอายุอีกด้วย

  อารี  พลดี