ขัดกันเหลือเกิน
    
          คำว่า ขัด ที่อาจจะดูธรรมดา ครั้งแรกที่เห็นคำนี้ก็คงจะคิดถึงเฉพาะความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกัน แต่ถ้าคิดให้ดีมีความหมายมากกว่านั้น แต่จะมีความหมายว่าอะไรบ้าง วันนี้เราลองใช้พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒  หาคำตอบกันนะคะ

          ความหมายแรก ขัด เป็นคำกริยา หมายถึง ให้ติดขวางไว้ไม่ให้หลุดออก เช่น ขัดกระดุม ขัดกลอน  หมายถึง  เหน็บ เช่น ขัดกระบี่  หมายถึง  ไม่ทําตาม ฝ่าฝืน ขืนไว้ เช่น ขัดคําสั่ง  หมายถึง  แย้งกัน ไม่ลงรอยกัน คำที่ใช้ประกอบกัน ก็เช่น  ขัดขา  หมายถึง จงใจขัดขวางเพื่อไม่ให้ทำได้สะดวก บางครั้งก็ใช้ว่า ขัดแข้งขัดขา นอกจากนี้คำว่า ขัดขา ยังใช้หมายถึง แทนชั่วคราว เป็นการแก้ขัดในการเล่นไพ่เป็นต้น บางครั้งก็ใช้ว่า คานขา หรือ คันขา  ขัดคอ  หมายถึง พูดแย้งขวางเข้ามา ไม่ให้ทําได้โดยสะดวก  ขัดเคือง  หมายถึง โกรธเพราะถูกขัดใจเป็นต้น  ขัดแค้น  หมายถึง โกรธเจ็บใจอยู่ไม่หาย ขัดจังหวะ  หมายถึง แทรกเข้ามาในระหว่างร้องรํา หรือหมายถึง  ขวางเข้ามาเพื่อไม่ให้ทําหรือพูดได้สะดวก ขัดใจ  หมายถึง โกรธเพราะทําไม่ถูกใจ ไม่ยอมให้ทําตามใจ  ขัดดอก  เป็นคำภาษาโบราณ หมายถึง ส่งลูกหรือเมียให้รับใช้แทนส่งดอกเบี้ย  ขัดตา  หมายถึง ดูไม่ถูกตา ดูไม่เหมาะตา ขัดนัยน์ตา ขัดลูกตา หรือขัดลูกหูลูกตา ก็ว่า ขัดตาทัพ  หมายถึง ยกทัพไปตั้งชั่วคราว กันไม่ให้ข้าศึกรุกลํ้าเข้ามา  ถ้าเป็นภาษาปาก หมายถึง แก้ไขไปพลาง ๆ ก่อน ขัดตำนาน  หมายถึง สวดบทนําเป็นทํานองก่อนสวดมนต์  ขัดแตะ  หมายถึง เรียกเรือนที่มีฝาเอาไม้ไผ่ซีกสอดขัดกับลูกตั้งว่า เรือนฝาขัดแตะ ขัดบท  หมายถึง แทรกเข้ามาเมื่อเขาพูดยังไม่จบเรื่อง ใช้เลือนมาเป็น ขัดคอ ก็มี  ขัดลาภ  หมายถึง ทําให้ไม่ได้รับสิ่งที่จะพึงได้ ทําให้ไม่มีโชค ขัดห้าง  หมายถึง  ทําที่พักบนต้นไม้ในป่าชั่วคราวสําหรับคอยเฝ้าดูเหตุการณ์หรือดักยิงสัตว์เป็นต้น ขัดหู  หมายถึง  ฟังไม่ถูกหู ฟังไม่เพราะหู

          ความหมายที่ ๒ เป็นคำกริยา หมายถึง  ถูให้เกลี้ยง ถูให้ผ่องใส ถูให้ขึ้นเงา  เช่น ขัดขี้ไคล ขัดพื้น หรือขัดเกลา หมายถึง ทําให้เกลี้ยงเกลา ทําให้เรียบร้อย อบรมพรํ่าสอน  เช่น ขัดเกลานิสัย  ความหมายที่ ๓ เป็นคำกริยา หมายถึง ไม่ใคร่จะมี ฝืดเคือง ไม่คล่อง ไม่เป็นปรกติ  เช่น  ขัดสน  หมายถึง  ฝืดเคือง อัตคัด ขาดแคลน  หรือหมายถึง ลําบาก  ความหมายที่ ๔ เป็นคำกริยา ภาษาโบราณ มักพบในบทกลอน หมายถึง คาด เช่น มีพิกัดขัดค่าเป็นราคาน้อยมาก  (มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มหาราช).

จินดารัตน์  โพธิ์นอก