ขันโตก

          ขันโตก  โตก หรือ สะโตก เป็นภาชนะที่ทำด้วยไม้กลึง ไม้ไผ่สาน  หรือ หวายสาน. ส่วนบนมีลักษณะคล้ายถาด  มีส่วนรองรับถาดเป็นหวายขดเป็นวง  มีขนาดเล็กกว่าถาดส่วนบน ส่วนที่ยึดและค้ำถาดไว้ทำเป็นลูกมะหวด ประมาณ ๖ ซี่ ปักที่ตีนยึดและค้ำถาดไว้ ขันโตกใช้สำหรับใส่อาหาร หรือสิ่งของอื่น ๆ  ลักษณนามว่า ใบ หรือ ลูก

          การกินขันโตก หมายถึง การกินอาหารพื้นเมืองของชาวภาคเหนือซึ่งจัดอาหาร มีข้าวเหนียวนึ่ง แกงฮังเล น้ำพริกอ่อง  แคบหมู  ไส้อั่ว และ ผักกาดจอ เป็นต้น ใส่ถ้วยหรือชาม วางไว้ในโตก เรียกว่า กินขันโตก  คนกินต้องนั่งกับพื้น

          ปัจจุบันจังหวัดทางภาคเหนือได้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก  จึงจัดให้การกินขันโตก  เป็นธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างหนึ่ง  ผู้ไปเยือนนอกจากจะได้รับประทานอาหารที่จัดไว้ในโตกแล้ว  ยังได้ชมการแสดงดนตรีพื้นเมือง ประเภทสะล้อ ซอ ซึง  และการฟ้อน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวเหนือ  และได้ชมการละเล่นของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ อีกด้วย

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.