ข้าวยาคู

          คำว่า ยาคู มาจากภาษาบาลีว่า ยาคุ ข้าวยาคูมีลักษณะแบบเดียวกับข้าวต้ม ในสมัยพุทธกาลใช้ข้าวหรือธัญพืชชนิดอื่นแช่ในน้ำในอัตราส่วน ๑ ต่อ ๑๖ จนเปลือกธัญพืชเหล่านี้อ่อนตัว แล้วเคี่ยวให้เหลือเพียงครึ่งเดียว มักเป็นอาหารที่ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่หิวกระหายดื่ม ในวินัยปิฎกและพระสูตรอังคุตตรนิกาย (อ่านว่า อัง-คุด-ตะระ -นิ-กาย) กล่าวว่าข้าวยาคูมีประโยชน์ ๕ ประการ คือ ช่วยบรรเทาความหิว บรรเทาความกระหาย ทำให้ลมเดินสะดวก ช่วยชำระลำไส้ และช่วยย่อยอาหาร

          ตามพุทธประวัติ กล่าวว่า พราหมณ์ผู้หนึ่งหุงข้าวยาคูและทำขนมหวานถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวกฉัน ขนมที่พราหมณ์ทำเป็นขนมหวาน ส่วนข้าวยาคูไม่มีรสหวาน

          ปัจจุบันการทำข้าวยาคู ใช้ข้าวอ่อนนำมาตำให้เม็ดแหลก แล้วกรองเอาส่วนที่เป็นน้ำมาต้มกับน้ำตาล ทำให้มีลักษณะคล้ายแป้งเปียกสีเขียวอ่อน เมื่อกินอาจราดหน้าด้วยน้ำกะทิเล็กน้อยหรือใส่มะพร้าวอ่อนก็ได้. ข้าวยาคู บางคนเรียก ข้าวกระยาคู ซึ่งไม่ถูกต้อง

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.