คำขอบคุณและขอโทษในภาษาไทย

          เมื่อจะกล่าวคำขอบคุณ คนไทยมีวิธีพูดหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบุคคล ถ้าพูดกับผู้ที่สนิทสนมกัน เด็ก หรือผู้มีอาวุโสน้อยกว่า จะใช้ว่า “ขอบใจ” ถ้าพูดกับผู้ใหญ่หรือบุคคลที่เสมอกันแต่ไม่สนิทสนมกัน จะใช้ว่า “ขอบคุณ” ถ้าพูดกับผู้ใหญ่และต้องการแสดงความอ่อนน้อมยิ่งขึ้น จะใช้ว่า “ขอบพระคุณ” เมื่อใช้คำว่า “ขอบคุณ” หรือ “ขอบพระคุณ” กับผู้อาวุโส ผู้พูดมักจะยกมือไหว้ด้วย

          เมื่อจะกล่าวคำขอโทษคนไทยก็มีวิธีพูดหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบุคคลเช่นกัน

          โดยทั่วไปคนไทยจะใช้ว่า “ขอโทษ” หรือ “ขอโทษที” เมื่อต้องการให้สุภาพยิ่งขึ้นจะใช้ว่า “ขอประทานโทษ” คำว่า “ขอประทานโทษ” มักจะใช้กับผู้ที่มิได้สนิทสนมกันหรือใช้กับผู้ใหญ่

          ถ้าใช้อย่างเป็นทางการมักจะใช้ว่า “ขออภัย” เช่น เมื่อมีการขุดถนน ซึ่งทำให้การจราจรติดขัด เจ้าหน้าที่มักจะติดป้ายว่า “ขออภัยในความไม่สะดวก” เมื่อประกาศขอโทษในสื่อมวลชน เช่น ประกาศขออภัยในหน้าหนังสือพิมพ์

          ในกรณีที่ขอโทษอย่างเป็นพิธีการมักใช้ว่า “ขอขมา” เช่น “เขามาขอขมาญาติผู้ใหญ่เพื่อลาบวช” ในกรณีที่ทำผิด และถูกตัดสินให้ขอโทษต่อสาธารณะ ผู้ขอโทษจะใช้ว่า “ขอขมา”

          ถ้าเป็นการขอให้ยกโทษให้หรือขอให้เลิกแล้วต่อกันจะใช้ว่า “ขออโหสิ”

นิตยา กาญจนะวรรณ เขียน
ชลธิชา สุดมุข สรุป