คำสรรพนามในภาษาไทยสะท้อนวัฒนธรรมไทย

          ท่านที่เคยดูภาพยนตร์ต่างประเทศที่มีคำแปลภาษาไทยกำกับอยู่คงจะได้เคยพบว่า บางครั้งผู้เป็นพ่อจะพูดกับลูกโดยใช้คำสรรพนามแทนตัวเองว่า ผม และแทนตัวลูกว่า คุณ ทั้ง ๆ ที่ผู้เป็นลูกเป็นเด็กอายุไม่ถึง ๑๐ ขวบ ฟังดูจะรู้สึกขัดหูมาก เพราะไม่มีพ่อคนไหนในเมืองไทยจะใช้คำพูดกับลูกอย่างนี้ คำแทนตัวผู้พูดและผู้ที่เราพูดด้วย ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ทางไวยากรณ์ว่า คำสรรพนาม นั้น ในภาษาไทยเป็นคำที่สะท้อนวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อนมากกว่าคำสรรพนามในภาษาอื่น ๆ

          ถ้าจะแปลคำสรรพนามของไทยเป็นภาษาอังกฤษ เราจะแปลได้อย่างง่ายดาย เพียงแต่รู้ว่าเป็นบุรุษที่หนึ่งคือผู้พูด หรือบุรุษที่สองคือผู้ที่พูดด้วยเท่านั้น เพราะในภาษาอังกฤษจะใช้สรรพนาม I กับ You เป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นบุรุษที่สาม คือ ผู้ที่พูดถึง จึงต้องการรายละเอียดว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย คนเดียวหรือหลายคน

          แต่เมื่อจะแปล I หรือ You จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ผู้แปลจะต้องพบความลำบาก เพราะไม่สามารถจะหาคำแปลได้ในทันที ผู้แปลจะต้องหาข้อมูลให้ได้ก่อนว่า ผู้ใช้คำว่า I นั้นเป็นใคร เพศอะไร อายุมากน้อยเพียงใด กำลังพูดกับใคร มีความสัมพันธ์กับผู้พูดในสถานใด เป็นญาติลำดับใด หรือเป็นคนที่รู้จักกัน ถ้ารู้จักกัน ก็ต้องรู้ว่ารู้จักกันมากน้อยเพียงใด สนิทสนมแค่ไหน เป็นครูกับศิษย์หรือเป็นเพียงคนแปลกหน้า เป็นต้น และขณะที่พูดนั้นพูดอย่างเป็นทางการอย่างลำลอง หรือเป็นกันเอง เนื้อความที่พูดนั้นพูดอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน พูดอย่างปรกติธรรมดา หรือกำลังโกรธ นอกจากนี้ ยังจะต้องรู้ว่าผู้พูดนั้นมีพื้นฐานทางสังคมระดับใดผู้ที่มีพื้นฐานทางสังคมต่างกันก็อาจใช้คำที่ต่างกันออกไปอีก ในภาษาไทยจึงพูดได้ว่า คำสรรพนามสะท้อนวัฒนธรรมไทยอย่างชัดเจน

          วัฒนธรรมไทยที่สะท้อนออกมาจากคำสรรพนามมีหลายประการ เช่น การมีสัมมาคารวะ การรู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่ ความอ่อนน้อมถ่อมตนและยกย่องให้เกียรติผู้อื่น การให้ความสำคัญกับชายหญิง ความผูกพันระหว่างครอบครัวและเครือญาติ การกลมกลืนปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ทั้งในด้านอารมณ์ สังคม และสภาวการณ์โลก ในภาษาวรรณคดียังให้ความสำคัญแก่มนุษย์ อมนุษย์ และสัตว์ต่าง ๆ อีกด้วย

          เมื่อไทยติดต่อกับเขมร ซึ่งมีการยกย่องพระเจ้าแผ่นดินเป็นเทวราชา และใช้ราชาศัพท์กับพระเจ้าแผ่นดิน การใช้ราชาศัพท์ก็แพร่เข้ามาในภาษาไทยด้วย  ไทยนำคำบาลี สันสกฤตและคำเขมร ซึ่งถือว่าเป็นศัพท์ที่มีฐานะสูงกว่าคำธรรมดา ๆ ในภาษาไทย มาใช้ให้เป็นภาษาเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คนไทยนับถือพระพุทธศาสนาเป็นที่เคารพสักการะสูงสุด  พระพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐยิ่งกว่าผู้ใดในโลกเป็นผู้ที่พุทธศาสนิกชนบูชาและเทิดทูนยกย่องสูงสุด พุทธศาสนิกชนจึงเรียกตัวเองว่าเป็น ข้าของพระพุทธเจ้า เมื่อต้องการแสดงการยกย่องพระเจ้าแผ่นดินจึงนำคำว่า ข้าพระพุทธเจ้า มาใช้เป็น คำสรรพนามแทนตัวเองเมื่อพูดกับพระเจ้าแผ่นดิน

          ด้วยสรรพนามคำนี้ถือเป็นสรรพนามขั้นสูงสุด เมื่อพูดกับพระราชวงศ์รองลงมาก็ใช้คำที่ถือว่ารองลงมา เช่น เกล้ากระหม่อม กระหม่อม ผู้หญิงใช้ว่า เกล้ากระหม่อมฉัน หม่อมฉัน การใช้คำว่า กระหม่อมเป็นคำพูดแทนตัวเอง เมื่อพูดกับผู้ที่เป็นพระราชวงศ์ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่มีฐานะสูงกว่าตนอย่างนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยที่มีฐานะสูงกว่าตนอย่างนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยที่ถือว่าศีรษะเป็นของสูง เมื่อพูดกับคนที่สูงกว่าจึงไม่ได้เอาตัวเองไปพูดด้วย หากยกเอาส่วนที่สูงที่สุดของตัว คือ กระหม่อม ไปพูด การใช้คำว่า ผม เป็นคำสุภาพทั่วไป ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน

          การใช้คำว่า เกล้ากระหม่อม กระหม่อม หรือ ผม สรรพนามบุรุษที่ ๒ นั้น แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยที่ยกผู้อื่นขึ้นสูง ถ่อมตัวเองลงให้ต่ำลงไป จนมิอาจนำตัวมาเทียบกับผู้ที่ตนพูดด้วย ต้องเอาส่วนที่สูงที่สุดในตัว คือศีรษะมาพูด และเพื่อแสดงการยกย่องให้เห็นเด่นชัดขึ้นก็น้อมตัวลงไปถึงเท้าของผู้ที่ตนพูดด้วย ถึงเพียงนี้ยังมิพอ ยังมิบังอาจพูดกับเท้าแต่ขอพูดกับใต้เท้า  คำว่า “ใต้เท้า” จึงเป็นคำแสดงความเปรียบเทียบที่นำมาใช้เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๒ แทนผู้ที่พูดด้วย เมื่อผู้ที่พูดด้วยเป็นพระราชวงศ์ หรือเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็ต้องลดตัวลงให้ต่ำลงไปอีก คำว่า ใต้เท้า ต้องเปลี่ยนมาเป็น ใต้ฝ่าพระบาท ให้เป็นราชาศัพท์ชั้นหนึ่ง แล้วจึงเลื่อนเป็น ใต้ฝ่าละอองพระบาท หรือ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ตามลำดับ จากชั้นหม่อมเจ้า พระองค์เจ้า ขึ้นไปจนถึงพระมหากษัตริย์

          อย่างไรก็ตาม คำสรรพนามซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงใช้เองนั้น กลับมิใช่คำยกพระองค์เอง หากเป็นคำแทนตัวตามปรกติ และถ้าผู้ที่ทรงมีพระราชปฏิสันถารด้วยเป็นผู้ที่ควรยกย่องประการใด ก็จะทรงใช้คำยกย่องนั้น ๆ ตามควรแก่ฐานะด้วย พระราชวงศ์ชั้นรองลงมาก็ไม่ใช้คำราชาศัพท์สำหรับตนเอง แต่ใช้สำหรับผู้อื่นซึ่งสมควรใช้คำราชาศัพท์หรือคำยกย่องอื่นเช่นเดียวกัน

          พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่ของประเทศนับถือและยึดมั่น พระสงฆ์ผู้สืบทอดศาสนาจึงเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพอย่างสูงในฐานะผู้ที่ประพฤติตนอยู่ในกรอบของคุณงามความดี เป็นผู้ที่มีศีล ยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักธรรม และนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเผยแผ่ให้พุทธศาสนิกชนทราบและปฏิบัติต่อไป การพูดกับพระภิกษุสงฆ์จึงใช้คำแสดงความยกย่อง เช่น ใช้สรรพนามแทนตัวเองด้วยคำสุภาพ ดิฉัน กระผม ใช้สรรพนามแทนพระภิกษุ ท่าน พระคุณเจ้า

          แต่ถ้าภิกษุรูปนั้นเป็นญาติ คนไทยซึ่งมีความผูกพันกับครอบครัว แม้แต่กับผู้ที่สละและตัดขาดจากโลกแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะแสดงความสัมพันธ์ฉันญาติในคำสรรพนามที่พูดกับพระภิกษุด้วย และด้วยความที่ถือว่าภิกษุเป็นบุคคลที่อยู่ในศีลธรรม เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นศิษย์พระตถาคต จึงนำคำว่า หลวง ซึ่งแปลว่า ใหญ่ มาประกอบคำลำดับญาติ และเรียกพระภิกษุว่า หลวงตา หลวงลุง หลวงอา หลวงน้า เป็นต้น

          ส่วนพระภิกษุเองนั้นจะใช้คำสรรพนามแทนตัวว่า อาตมา อาตมภาพ ซึ่งเป็นคำแสดงความไม่ผูกพัน ไม่เกี่ยวข้องทางโลกกับผู้ใด อันเป็นหลักธรรมและแนวปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา

          ในหมู่ญาติพี่น้อง คนไทยนิยมใช้คำแสดงลำดับญาติ มาใช้เป็นคำสรรพนามด้วย ถ้อยคำที่ใช้พูดกันจะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้พูดและผู้ฟังตามลำดับศักดิ์ของญาติ โดยใช้คำลำดับญาตินั้นเองเป็นคำสรรพนามแทนตัวผู้พูดและผู้ฟัง คำว่า ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง ลูก หลาน จึงใช้เสมือนหนึ่งเป็นคำสรรพนาม ตามศักดิ์แห่งผู้ใช้ภาษานั้น

          บางท่านอาจจะคิดว่าคำบอกลำดับญาติเหล่านี้เป็นคำนาม มิใช่คำสรรพนามเพราะมีความหมายในตัวชัดเจน ไม่ได้ใช้แทนคำอื่น แต่ถ้าจะมองในด้านหน้าที่จะเห็นว่า คำบอกลำดับญาติเหล่านี้มีหน้าที่เป็นคำสรรพนามได้ทั้งบุรุษที่ ๑ บุรุษที่ ๒ และในบางกรณีเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ ด้วย คำบอกลำดับญาติเหล่านี้อาจจะเติมคำยกย่อง เช่น ท่าน คุณ หรือคำแสดงความยกย่องอื่น ๆ เช่น หลวง หม่อม เสด็จ สมเด็จ นำหน้าด้วย เช่น หลวงตา หลวงลุง หม่อมย่า เสด็จอา สมเด็จแม่

          ในการพูดกับผู้ที่มิใช่ญาติ คนไทยจะใช้คำบอกลำดับญาติโดยอนุโลม การที่จะเลือกใช้คำใดกับผู้ใด ผู้พูดจะเทียบดูฐานะ อายุ ความสนิทสนม หรือความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ถ้าผู้ที่พูดด้วยเป็นคนที่มีฐานะ คุณวุฒิ หรือวัยวุฒิสูงกว่า ผู้พูดจะใช้คำสุภาพแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนแทนตัวเอง เช่น อีฉัน ดิฉัน บ่าว กระผม ส่วนผู้ที่พูดด้วยก็จะใช้คำยกย่องว่า ท่าน คุณ คุณท่าน ใต้เท้า ถ้าผู้พูดมีฐานะสูงกว่าผู้ที่พูดด้วย ก็จะไม่ใช้คำยกย่อง แต่ใช้คำที่แสดงความเมตตาเอ็นดู เช่น หนู แม่หนู พ่อหนู เจ้า เธอ

          นอกจากนี้ ก็อาจจะใช้คำเรียกญาติโดยแนวเทียบวัยของผู้ที่พูดด้วยกับญาติของตน และใช้คำว่า หลาน ลูก น้อง พี่ ป้า น้า อา ลุง ตา ย่า ยาย ฯลฯ ได้อย่างสนิทสนม คำนับญาติเหล่านี้ใช้เป็นคำสรรพนามในภาษาไทยได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะคนไทยมักจะมีความรักความนับถือกันประดุจญาติ

          ในยามโกรธหรือมีการทะเลาะกัน คำสรรพนามที่ใช้อาจจะเปลี่ยนไปเป็นคำที่ถือว่าหยาบ เช่น คำว่า กู มึง ข้า เอ็ง แต่ถ้าพิจารณาที่มาของคำก็จะพบว่า คำเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายไปในทางหยาบคายหรือดูถูกดูหมิ่นใด ๆ แท้จริงเป็นคำธรรมดาซึ่งพี่น้องไทยแต่ก่อนเคยใช้อย่างปรกติ แต่ได้มาถูกลดฐานะลงเป็นคำไม่สุภาพเท่านั้นเอง ปัจจุบันคำสรรพนามเหล่านี้ ยังมีคนบางกลุ่มที่มีฐานะทางสังคมเท่าเทียมกัน และมีความสนิทชิดชอบเป็นเพื่อนร่วมกลุ่มกันใช้เป็นภาษาปรกติและไม่ถือว่าไม่สุภาพ พี่น้องไทยซึ่งอยู่นอกประเทศไทย เช่น คนไทที่คุนหมิง เชียงของ เชียงม่วน ยังคงใช้คำเหล่านี้เป็นภาษาปรกติ และจัดเป็นคำสุภาพเสียด้วยซ้ำ

          อย่างไรก็ตาม ภาษาไทยที่ใช้ในประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจนคำว่า กู มึง ข้า เอ็ง ลดฐานะลงเป็นคำไม่สุภาพเสียแล้ว และได้มีการนำคำอื่น มาใช้ให้เป็นภาษาสุภาพและภาษาชั้นสูง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามความนิยมและยินยอมของสังคมแล้ว ถ้าถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรจะกลับไปหาภาษาดั้งเดิมดีหรือไม่ คำตอบคงจะเป็นว่า ไม่ควร เพราะภาษาไม่ใช่เรื่องที่ใครจะสั่งหรืออยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามใจตนได้ ภาษาเป็นสมบัติของสังคม ถ้าคนทั้งประเทศ หรือคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำทางสังคมของประเทศ นิยมใช้อย่างไร ภาษาก็จะเป็นอย่างนั้น

          คนที่เป็นผู้มีอำนาจวาสนาอาจจะน้อมนำความคิดของคนส่วนใหญ่ให้เห็นดีเห็นงามตาม ให้นิยมใช้ตาม ภาษาอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามการน้อมนำนั้นได้บ้าง แต่ก็ไม่เสมอไป มนุษย์เรานั้นมีความปรารถนาไปสู่ที่สูงขึ้นทั้งนั้น สิ่งใดที่คิดหรือเชื่อว่าดีกว่า เจริญกว่า สูงกว่า คนก็จะพยายามไขว่คว้าเอามาเป็นของตน สิ่งใดที่คิดว่าเลวว่าต่ำช้า ก็จะพยายามหลีกหนี ภาษาไทยที่เปลี่ยนแปลงไปก็เป็นด้วยเหตุผลเดียวกันนี้

          คำที่ดี คำที่ถือว่าสูง คำพูดสำหรับเจ้านายในสมัยหนึ่ง คนธรรมดามักจะดึงมาใช้ด้วย ภาษาที่สูงกว่าจะเลื่อนลงมาเรื่อย ๆ เช่น คำว่า คุณ ซึ่งเป็นคำนำหน้าเฉพาะพระราชวงศ์ ลูกผู้มีบรรดาศักดิ์ หรือผู้ที่ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าและยังไม่ได้แต่งงาน ก็ได้ถูกดึงลงมาใช้เรียกคนทั่วไป ปัจจุบันใคร ๆ ก็เป็น คุณ กันทั้งนั้น ถ้าเรียกว่า นาย… นาง… ก็จะไม่พอใจ ต้องใช้ว่า คุณ… บางทีใช้ คุณ ยังไม่พอ ยังใช้คำยกย่องขึ้นไปเป็นท่าน…อีกด้วย เช่น ท่านชวน ท่านบรรหาร ท่านมารุต แม้ว่าในทางกฎหมายจะกำหนดให้ใช้คำว่า นาย นาง นางสาว เป็นคำนำหน้าชื่อก็ตาม เมื่อภาษาได้พัฒนามาอย่างนี้แล้ว ที่จะให้ย้อนกลับไปหาจุดเดิมอีกคงจะทำให้เกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก ในความรู้สึกของคนทั่วไปนั้นคำว่า กู มึง เป็นคำหยาบคาย คนที่ไม่สนิทกันจริง ๆ ถ้าใช้ก็จะเป็นคำแสดงความไม่พอใจ หรือความโกรธอย่างรุนแรงทีเดียว หญิงที่เป็นกุลสตรีจะไม่ยอมใช้เลย ผู้ใหญ่ส่วนมากจึงมักจะตกใจเมื่อได้ยินคำเหล่านี้หลุดออกมาจากปากของเด็กสาว ๆ ซึ่งดูท่าทางเป็นคนที่ได้รับการศึกษาแล้ว หรือเป็นผู้ซึ่งควรได้รับการอบรมสั่งสอนมาอย่างดี

          การที่เด็กวัยรุ่นบางกลุ่มในปัจจุบันนิยมพูดจาหยาบคายอาจจะเป็นเพราะต้องการที่จะต่อต้านสังคมหรือต้องการเรียกร้องความสนใจเป็นพิเศษ เด็กบางกลุ่มอาจคิดคำใช้เฉพาะกลุ่ม เช่น ใช้คำว่า เพื่อน เป็นคำสรรพนามแทนตนเองและแทนผู้ที่พูดด้วย เช่น “วันนี้เพื่อน (ฉัน) จะไปดูหนัง เพื่อน (เธอ) ไปด้วยกันไหม” บางคนใช้คำว่า ตัวเอง หรือ เรา แทนตนเองและแทนผู้ที่พูดด้วย เช่น “ตัวเอง (ฉัน) เบื่อจังเลย อยากไปฟังเพลงไปด้วยกันไหมตัวเอง (เธอ)” การใช้คำสรรพนามอย่างนี้อาจทำให้เข้าใจผิดได้ ผู้ที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์หรือคนนอกวงการ ก็อาจจะไม่เข้าใจคำพูดบางประโยคได้ เช่น ประโยคว่า “ใครจะไม่รักตัวเอง” ซึ่งเป็นข้อความที่ผู้พูดอาจพูดโดยเว้นจังหวะระหว่างคำว่า รัก กับ ตัวเอง นิดหนึ่ง บางคนอาจจะเข้าใจว่าข้อความนั้นหมายความว่า “ไม่มีใครที่ไม่รักตัวเอง ทุกคนรักตนเองทั้งนั้น” แต่ที่จริงผู้พูดพูดเพื่อปลอบใจผู้ฟัง หรือผู้ที่ผู้พูดกำลังพูดด้วยนั้นว่า “ใคร ๆ ก็รักเธอทั้งนั้น” เป็นต้น เท่าที่สังเกตคนที่นิยมใช้คำว่า ตัวเอง นอกจากจะเป็นเด็กวัยรุ่นที่เปรี้ยวจัดแล้วก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า “หญิงประเภทสอง” ก็นิยมใช้ด้วย

          ในสังคมไทยแต่เดิมมา ผู้น้อยมักจะไม่เรียกชื่อผู้ใหญ่แต่จะเรียกด้วยตำแหน่ง อาชีพ หรือยศที่ผู้นั้นดำรงอยู่ คำที่แสดงตำแหน่ง ยศ และอาชีพบางคำจึงกลายมาเป็นคำสรรพนามด้วย เช่น คำว่า หัวหน้า ผู้ว่า (ผู้ว่าราชการจังหวัด) นายก (นายกสโมสร นายกสมาคม) นายอำเภอ ปลัด กำนัน ผู้ใหญ่ พ่อหลวง ประธาน (ประธานกรรมการ ประธานสภา) เช่น พูดว่า “ผู้ใหญ่มีงานอะไรจะให้ผมช่วยก็บอกมาเถอะครับ” “เชิญปลัดนั่งซิครับ” ฯลฯ คำที่แสดงอาชีพ เช่น คำว่า อาจารย์ ครู หมอ ช่าง กระเป๋า (กระเป๋ารถเมล์) แม่ค้า คนขับ และยศทหารตำรวจ เช่น นายร้อย นายพล จ่า ก็มักจะใช้เป็นคำสรรพนามด้วย

          คำว่า ตัว และ เค้า เป็นคำสรรพนามที่วัยรุ่นในสมัยเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมานิยมใช้เพราะฟังดูน่ารัก ทำให้เป็นที่น่าเอ็นดู เนื่องจากเป็นคำสรรพนามที่เด็กและวัยรุ่นใช้กัน ถ้าผู้ใหญ่นำมาใช้ก็จะไม่สมวัย

          ผู้ที่มีความนิยมอารยธรรมและวัฒนธรรมตะวันตกอาจจะนำคำสรรพนามภาษาอังกฤษมาใช้ คือ คำว่า ไอ และ ยู สาวเปรี้ยวและหนุ่มเฉี่ยวเมื่อ ๕๐ ปีก่อนนี้ นิยมใช้กันมาก และบางคนก็ยังพูดติดปากอยู่จนแม้จะมีอายุ ๖๐-๗๐ ปีแล้วก็ตาม คนที่นิยมตามแบบจีนอาจใช้คำว่า อั๊ว ลื้อ แต่มักจะได้รับคำตำหนิว่า ไม่ค่อยสุภาพนัก

          จากตัวอย่างคำสรรพนามในภาษาไทย ที่ยกมาพิจารณาข้างต้นนี้ พอจะสรุปได้ว่า คำสรรพนามในภาษาไทยเป็นสิ่งที่ผูกพันกับวัฒนธรรมไทย สรรพนามมิใช่เพียงคำแทนตัวผู้พูดหรือผู้ฟังอย่างลอย ๆ เท่านั้น หากเป็นคำที่แสดงลักษณะประจำตัวของผู้พูดและผู้ฟัง แสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง แสดงอารมณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แสดงค่านิยมและแสดงความผันแปรของวัฒนธรรมอย่างไม่หยุดนิ่ง เราจึงควรให้ความสนใจกับการใช้คำสรรพนามในภาษาของเราโดยใช้ให้ถูกต้อง ใช้ให้เหมาะสม และใช้เพื่อรักษาวัฒนธรรมของชาติให้ยืนยงสืบไป.


ผู้เขียน : ศ. ดร.กาญจนา  นาคสกุล
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๗๓ มิถุนายน ๒๕๔๐