จวัก-ตวัก

          คำว่า จวัก (อ่านว่า จะ-หฺวัก) กับ ตวัก (อ่านว่า ตะ-หฺวัก) มีความหมายเหมือนกัน คือหมายถึง เครื่องใช้ตักแกงเป็นต้น ทำด้วยกะลามะพร้าว มีด้ามถือ เช่น บางคนพูดว่า แม่ใช้จวักตักแกง แต่บางคนพูดว่า แม่ใช้ตวักตักแกง.

          คำว่า จวัก และ ตวัก อาจนำไปใช้เปรียบเทียบกับหน้าบึ้งหน้างอ เช่น เขาโกรธหน้างอเป็นจวักเพราะต้องรอนาน หรือ เขาโกรธหน้างอเป็นตวักเพราะต้องรอนาน

          อย่างไรก็ตาม ๒ คำนี้อาจนำไปใช้คู่กับคำต่างกัน. จวัก ใช้คู่กับคำ ฉก เป็น ฉกจวัก หมายถึง ชูหัวขึ้น แผ่พังพาน ทำท่าจะฉก เช่น งูฉกจวัก

          ส่วนคำว่า ตวัก ใช้ซ้อนกับคำว่า กะบวย ซึ่งหมายถึงภาชนะตักน้ำ เป็น ตวักกะบวย และเสียงเพี้ยนเป็น ตวักตะบวย หมายถึง มีค่าน้อย ไม่สำคัญ.

ที่มา :  บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย”  ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.